สามสัตว์ “ซูเปอร์ฮีโร่” ที่เรามองข้าม-ข่าวBBC

สามสัตว์ “ซูเปอร์ฮีโร่” ที่เรามองข้าม-ข่าวBBC
PICTURENOW/UIG VIA GETTY IMAGES ภาพวาดคางคก ชื่อว่า อะเมซซิ่ง ของ ธีโอดอร์ คิตเทลเสน

โดย เอลลา เดวีส์

ในขณะที่สิ่งมีชีวิตตั้งแต่มดตัวจ้อย แมงมุมไปจนถึงเสือดำที่แสนสง่างามต่างก็กลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่ในหนังกัน ซึ่งสร้างชื่อเสียงด้านดีให้พวกมัน ยังมีสัตว์ที่สมควรได้รับการยกย่องว่าเป็นซูเปอร์ฮีโร่ แต่ด้วยรูปลักษณ์ที่ไม่เข้าตากรรมการของพวกมันทำให้ถูกมองข้ามไป

วันนี้เราจะมาแนะนำซูเปอร์ฮีโร่สักสามสายพันธุ์ ที่ธรรมชาติออกแบบพวกมันมาอย่างน่าทึ่ง รวมทั้งบทบาทของมันในระบบนิเวศน์ก็ไม่ธรรมดาเลย

คางคก

MARC GUITARD
คางคกอเมริกา (anaxyrus americanus)

คางคกเป็นที่รู้จักกันดีในหลากหลายบทบาท เช่น สัตว์เลี้ยงคู่กายแม่มด ตัวการ์ตูนมนุษย์กลายพันธ์ หรือแม้กระทั่งใช้ขึ้นวอเพื่อเป็นสำนวนแทนคนที่ลืมชาติกำเนิดของตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถพิเศษของมันแต่อย่างใด

ในทางวิทยาศาสตร์ กบและคางคกนั้นแยกออกจากกันได้ค่อนข้างยาก แต่โดยส่วนใหญ่ เรามักมองว่าคางคกจะอาศัยอยู่บนบกมากกว่า และมีผิวหนังที่แห้งกว่ากบ คางคกกินแมลงขนาดเล็กเป็นอาหารโดยอาศัยลิ้นอันยืดหยุ่น ซึ่งนอกเหนือจากนั้นแล้ว พวกมันก็ไม่มีอาวุธอื่นใดเพื่อใช้ล่าเหยื่อได้อีก ทว่าสำหรับเรื่องการป้องกันตัวแล้ว คางคกบางสายพันธุ์กลับร้ายกาจอย่างมาก

นอกจากนี้ ศักยภาพของพวกมันยังเป็นที่รู้จักกันดีทั้งในตำรับยาแผนโบราณ และการแพทย์แผนปัจจุบัน ในประเทศจีนนั้น หนังคางคก ที่เชื่อกันว่ามีพิษ ยังถูกยกย่องว่ามีสรรพคุณหลายด้าน ตั้งแต่ระงับความเจ็บปวดไปจนถึงเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ คางคกส่วนใหญ่ปกป้องตัวเองด้วยการขับสารพิษออกมาสู่ผิวหนังจากต่อมชนิดหนึ่ง

GETTY IMAGES
มิสเตอร์โทด ตัวละครในหนังสือเด็กคลาสสิคเรื่อง ‘The Wind in the Willows’

อย่างไรก็ตาม คางคกยักษ์ออสเตรเลีย (cane toads) สัตว์ท้องถิ่นทางตอนกลางและใต้ของสหรัฐอเมริกา (ซึ่งกลายเป็นสัตว์รุกรานในหลายพื้นที่) นั้นโดดเด่นเป็นพิเศษจากบูโฟท๊อกซิน สารที่มีลักษณะคล้ายน้ำนมซึ่งออกฤทธิ์รุนแรงจนสามารถล้มสัตว์ขนาดใหญ่อย่างสุนัข และหากได้รับเข้าไปก็ส่งผลให้มนุษย์เจ็บป่วยอย่างแสนสาหัส

สารเคมีชนิดหนึ่งในพิษที่ร้ายแรงของคางคกนี้คล้ายคลึงกับพิษของดอกดิจิทาลิส หรือถุงมือจิ้งจอก ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจ ถ้าใช้ในปริมาณเล็กน้อยนั้นก็สามารถรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจล้มเหลวได้ด้วย งานวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย พบผลลัพธ์ที่เป็นบวกเมื่อลองใช้พิษของคางคกยักษ์ออสเตรเลียยับยั้งเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก

แม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกของคางคกจะไม่ค่อยน่ารักเท่าไรนัก แต่หากพวกมันสามารถปราบมะเร็งได้ ก็คงจะกล่าวได้แล้วว่า คางคกนั้นเหมาะสมกับตำแหน่ง ฮีโร่ที่มีด้านมืด อยู่ ใช่ไหม?

ฉลาม

DAN BEECHAM/BBC BLUE PLANET II
ฉลามสีฟ้า หนึ่งในสายพันธ์ของฉลามที่อาศัยอยู่ในน่านน้ำเปิด พวกมันท่องเที่ยวทางไกลเพื่อมองหาอาหารมื้อถัดไป แต่ก็อดท้องได้นานเป็นอาทิตย์หากไร้เหยื่อ

ตามสื่อประเภทต่างๆ ฉลามมักถูกทาบทามให้เล่นบทฆาตรกรจอมคลุ้มคลั่งแห่งท้องทะเลอยู่เสมอ ทว่าภาพจำนี้ไม่ค่อยให้เกียรติเครือญาติหลากหลายอันน่าทึ่งกว่า 400 สกุลของพวกมันเลย ไม่ว่าจะเป็นเจ้ายักษ์ใหญ่ใจดี ฉลามวาฬ ที่กินแพลงตอนเป็นอาหาร ไปจนถึง ฉลามกบ (epaulette shark) ที่สามารถ ‘เดิน’ บนพื้นได้ แต่ละสายพันธ์นั้นล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อที่ว่าฉลามสามารถได้กลิ่นเลือดจากระยะทางไกลหลายไมล์นั้นดูจะเกินจริงไปเสียหน่อย แต่ฉลามหลายสายพันธุ์มีประสาทสัมผัสเป็นเลิศ ที่จริงพวกมันเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ตอบสนองได้ว่องไวที่สุดในโลกอีกด้วย โดยสามารถรับรู้ถึงสนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็กที่บางเบาอย่างมากได้

อวัยวะรับสัมผัสแสนพิเศษบนหัวของพวกมันมีชื่อว่า Ampullae of Lorenzini อันเป็นกลุ่มของรูที่อัดแน่นด้วยสารคล้ายเยลลี ซึ่งช่วยให้การล่าแม่นยำยิ่งขึ้นด้วยการรับสัญญาณไฟฟ้าที่เกิดจากเหยื่อ ยกตัวอย่างเช่น ฉลามหัวค้อนถูหัวของพวกมันไปตามพื้นทรายใต้ทะเลเพื่อค้นหาปลากระเบนที่ซ่อนตัวอยู่

ARUN SANKAR/AFP/GETTY IMAGES
ชาวประมงอินเดียกำลังจะขายฉลามที่เขาจับได้เมื่อออกทะเลที่ท่าเมืองเชนไน เมื่อเดือนมค. 2018

นักวิจัยจากสถาบันชีววิทยาทางทะเลฮาวาย พบว่า ฉลามสามารถท่องเที่ยวโดยใช้สภาพแวดล้อมในท้องทะเล และสนามแม่เหล็กโลกเข้าช่วย เพื่อนำทางไปยังจุดออกหากินในเวลากลางคืน จุดพักผ่อนหย่อนใจในเวลากลางวัน หรือแม้กระทั่งติดตามเส้นทางอพยพอันยาวไกลได้อย่างแม่นยำ

ฉลามบางพันธุ์นั้นออกลูกเป็นตัว และมีระยะเวลาตั้งท้องยาวนาน รวมทั้งกว่าปลาฉลามจะโตเต็มวัยก็ใช้เวลามากด้วย ดังนั้นเมื่อถูกรังควานไม่ว่าจะโดยมนุษย์ผู้หวาดกลัว ได้รับผลกระทบจากมลพิษ ถูกล่าเพื่อเอาครีบ หรือติดอยู่ภายในแห ผลกระทบต่อเนื่องที่เกิดขึ้นทำให้จำนวนของพวกมันลดลงอย่างรวดเร็ว

MOHAMED ABDIWAHAB/AFP/GETTY IMAGES
ชาวประมงโซมาลีแบกฉลามหัวค้อนที่เขาจับได้เพื่อไปขายที่ตลาดในเมืองโมกาดิชู เมื่อมกราคม 2018

หลายคนเข้าใจว่าฉลามไม่สามารถหยุดนิ่งได้เพราะต้องเคลื่อนไหวเอาออกซิเจนเข้าไปสู่ร่างกาย แต่ความจริงแล้ว อีกหลายสายพันธ์นั้นสามารถดึงก๊าซออกซิเจนเข้าสู่เหงือกโดยอาศัยกล้ามเนื้อส่วนแก้มเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกัน ระบบช่วยหายใจที่เรียกว่า obligate ram ventilators ของฉลามก็สามารถอาศัยประโยชน์จากกระแสน้ำที่ไหลแรง หรือกระแสน้ำที่มีระดับออกซิเจนสูงดึงออกซิเจนเข้าร่างกายได้ ทำให้สามารถหยุดว่ายน้ำได้เป็นระยะเวลาสั้นๆ

หากเราจะมองแบบโลกสวย สักเล็กน้อย อาจจะกล่าวได้ว่าความดุร้ายของฉลามนั้นทำให้มันเป็นนักรบที่คอยพิทักษ์สรรพสิ่งในท้องทะเลให้พ้นจากอันตราย

แร้ง

ROBERT MUCKLEY
แร้งสวมหมวก (neccrosyrtes monachus) กำลังสยายปีกบินท่ามกลางท้องฟ้าโปร่งที่สดใส

เนื่องจากหนึ่งในซูเปอร์ฮีโร่ที่เก่งกาจที่สุดนั้นบินได้ นกจึงสมควรนำมาอยู่ในรายชื่อด้วยเช่นกัน และแน่นอนว่าต้องไม่ใช่นกธรรมดา แต่เป็นตัวแทนของเจ้าเวหานักเอาตัวรอดที่ยอดเยี่ยมที่สุด แร้งนั่นเอง

แร้งมีกิตติศัพท์หลากหลายในศิลปวัฒนธรรมยุคใหม่ โดยมักจะรับบทเป็นตัวร้ายสุดโฉด ทว่าในอนิเมชั่นเรื่องเมาคลีลูกหมาป่า (Jungle Book) ในปี พ.ศ. 2510 แร้งมีบทบาทที่ตราตรึงใจผู้ชมในฐานะเพื่อนผู้ห่วงใยเมาคลี เด็กชายผู้ถูกทอดทิ้ง

นกชนิดนี้มีลักษณะที่น่าพรั่นพรึง ไม่ว่าจะเป็นสายตาที่เฉียบแหลม ปากอันทรงพลัง หัวโล้นเกลี้ยงเกลา และความกว้างของปีกทั้งสองข้างที่น่าทึ่ง (แร้งดำหิมาลัยในทวีปเอเชียและยุโรปมีปีกที่กว้างได้ถึง 3.1 เมตร) แต่สิ่งที่ทำให้ผู้คนรังเกียจแร้งมากที่สุดนั้นดูเหมือนจะเป็นพฤติกรรมการกินของพวกมัน ที่เลือกกินซากศพแทนที่จะกินเหยื่อที่มีชีวิต ดังนั้นจุดประสงค์ของหัวที่ล้านเลี่ยนของมันก็คือกันไม่ให้คราบเลือดเกาะตัวเกรอะกรังนั่นเอง

PAUL NICHOLLS / BARCROFT MEDIA VIA GETTY IMAGES
ลูกแร้งตุรกีฝาแฝดในอังกฤษ พวกมันออกจากไข่ช่วงช่วงฟุตบอลโลกพอดี

ด้วยพฤติกรรมที่ต้องสัมผัสกับเชื้อโรคมากมายเช่นนี้ แร้งจึงมีระบบภูมิคุ้มกันที่น่าทึ่ง รวมถึงน้ำย่อยในกระเพาะที่มีฤทธิ์รุนแรงเพื่อย่อยซากศพ ทั้งนี้การที่พวกมันเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรียนั้นก็มีข้อได้เปรียบอยู่เช่นกัน คือ สัตว์น้อยพันธุ์นักที่จะกล้ายุ่งเกี่ยวกับแร้ง แต่น่าเศร้า ที่มนุษย์ไม่ใช่ข้อยกเว้น

ปัจจุบัน สายพันธ์แร้งในแอฟริกาและเอเชียกำลังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากยาพิษ ในประเทศอินเดียและปากีสถาน การใช้ยาแก้อักเสบชนิดไดโคลฟีแนคในวัวส่งผลให้แร้งที่กินซากศพเหล่านั้นเกิดภาวะไตวาย และทำให้จำนวนประชากรแร้งลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากรัฐบาลห้ามใช้ไดโคลฟีแนคในปศุสัตว์ นักอนุรักษ์ที่พยายามเต็มที่เพื่ออนุรักษ์พวกมัน

ในแอฟริกาตะวันตก แร้งได้ผลกระทบจากซากศพที่ปนเปื้อนสารพิษซึ่งแต่เดิมตั้งใจจะใช้ควบคุมประชากรของไฮยีน่าและสุนัขจิ้งจอก นอกจากนี้ พวกมันยังมักจะบินชนสายไฟและกังหันลมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แร้งซึ่งมีสถานะสูงสุดในห่วงโซ่อาหารนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการที่พวกมันบินโฉบลงมาจัดการกับซากต่าง ๆ ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคร้ายแรง เช่น โรคแอนแทรกซ์

จะดีกว่าไหมหากหันมามองแร้งในฐานะนักเก็บกวาดที่ยอมทำงานอันแสนสกปรกเพื่อปกป้องสรรพสิ่งจากอันตรายของสิ่งปฏิกูล


ที่มา: BBC ไทย

แชร์บทความนี้...

Vetbasket

คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *