พิษของลิงลมช่วยไขปริศนา เหตุใดน้ำลายแมวมีสารก่อภูมิแพ้-BBCไทย

พิษของลิงลมช่วยไขปริศนา เหตุใดน้ำลายแมวมีสารก่อภูมิแพ้-BBCไทย

เรื่องน่าเศร้าอย่างหนึ่งของคนรักสัตว์ก็คือการแพ้สัตว์เลี้ยงของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาทาสแมวหลายคนมีอาการน้ำมูกไหล จาม และเคืองตาเมื่อต้องเข้าใกล้เจ้าเหมียว ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายมีต่อโปรตีนบางชนิดในน้ำลายแมว โดยโปรตีนที่เป็นพิษนี้จะเคลือบติดอยู่ตามขนและผิวหนังแมว เมื่อมันเลียเนื้อตัวของมันนั่นเอง

ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบชัดว่า เหตุใดร่างกายแมวจึงต้องผลิตโปรตีนที่ทำให้มนุษย์บางคนเกิดอาการแพ้ออกมาด้วย จนกระทั่งพวกเขาได้ถอดรหัสพันธุกรรมของโปรตีนบางชนิดที่อยู่ในสารพิษของลิงลม (Slow loris) แล้วพบว่าเป็นโปรตีนชนิดเดียวกัน

GETTY IMAGES
ลิงลมหรือนางอาย (Slow Loris) เป็นสัตว์ประเภทลิงชนิดเดียวของโลกที่มีพิษในตัว

ทีมนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย ตีพิมพ์ผลการค้นพบดังกล่าวลงในวารสาร Toxins โดยระบุว่าโปรตีนที่ทำให้เกิดอาการแพ้น้ำลายแมว มีอยู่ในสารพิษร้ายแรงที่หลั่งจากต่อมใต้รักแร้ของลิงลมด้วย ซึ่งลิงลมใช้พิษนี้ในการต่อสู้ป้องกันตัว

การค้นพบนี้ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า แมวอาจผลิตโปรตีนที่ทำให้มนุษย์แพ้ขึ้นมาด้วยเหตุผลทางวิวัฒนาการแบบเดียวกันกับลิงลม คือเพื่อป้องกันขับไล่ศัตรูให้ถอยห่าง

ลิงลมหรือนางอายเป็นสัตว์ประเภทลิงชนิดเดียวของโลกที่มีพิษในตัว พบได้ในป่าของภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

GETTY IMAGES
การที่คนเกิดอาการแพ้เมื่อเข้าใกล้แมว เป็นเพราะโปรตีนบางชนิดที่อยู่ในน้ำลายของแมว

แม้มันจะมีหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู แต่ในปากของมันมีฟันและเขี้ยวคมที่ใช้กัดเหยื่อและศัตรูจนถึงตายได้ โดยมันจะเลียต่อมพิษของตนเองเพื่อให้สารพิษผสมกับน้ำลายก่อนกัด ซึ่งจะทำให้แผลที่เกิดขึ้นหายช้าและกลายเป็นหลุมเนื้อตายในภายหลัง

หากลิงลมกัดคน พิษของมันจะทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจได้ เหมือนกับการแพ้โปรตีนในน้ำลายแมวที่ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลงและหายใจลำบาก ผู้ค้าสัตว์ป่าจึงนิยมตัดเขี้ยวของลิงลมออกเสียก่อนจะนำไปขายเป็นสัตว์เลี้ยง

ดร. ไบรอัน ฟราย ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า “การค้นพบนี้ทำให้เรามองปัญหาการแพ้สัตว์เลี้ยงด้วยมุมมองใหม่ทางวิวัฒนาการ ซึ่งจะช่วยนำเราไปสู่การค้นพบวิธีรักษาที่ดียิ่งขึ้น”

“มีผู้คนราว 10-25% ในแต่ละภูมิภาคของโลกที่แพ้น้ำลายแมว ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่มากเกินกว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ เราจึงต้องศึกษาต่อไปเพื่อพิสูจน์ยืนยันว่า สารพิษนี้เป็นสิ่งที่วิวัฒนาการของแมวสร้างขึ้นมาเพื่อขับไล่สัตว์นักล่าจริงหรือไม่”


เผยแพร่ 7 กุมภาพันธ์ 2020 ข่าวต้นฉบับ

แชร์บทความนี้...

Vetbasket

คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *