เหตุใดสุนัขจึงทำร้ายเจ้าของตัวเอง? -BBCไทย
ข่าวของน.ส.เบธานี สตีเฟนส์ วัย 22 ปี จากรัฐเวอร์จิเนียในสหรัฐฯ ที่เสียชีวิตจากการถูกสุนัขพิทบูลของตนเองขย้ำและแทะศพ สร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชนในพื้นที่ หลังจากที่นายอำเภอเปิดเผยรายละเอียดเพื่อยืนยันว่าสุนัขของเธอเป็นสาเหตุของการตาย
ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า อะไรเป็นสาเหตุให้สุนัขทำร้ายเจ้าของได้รุนแรงถึงขั้นนี้
แม้ผู้เชี่ยวชาญจะระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน แต่โดยรวมแล้ว มีหลายปัจจัยที่ทำให้สุนัขจู่โจม
“พวกมันไม่ชอบความเครียด… หรือคริสต์มาส“
ดร.ฌอน เวนส์ลีย์ สัตวแพทย์อาวุโส จากองค์กรการกุศลเพื่อสัตว์ป่วย พีดีเอสเอ (People’s Dispensary for Sick Animals — PDSA) ระบุว่าสุนัขอาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเมื่อรู้สึกว่าถูกคุกคาม
“แรงจูงใจสำหรับสุนัขหลายตัวเกิดจากความกลัว” และ “ปัจจัยเกี่ยวกับอาณาเขต เช่น หากสุนัขกำลังเฝ้าบางสิ่งที่มีค่าสำหรับมัน หรือที่นอนโปรด หรือหากมันเรียนรู้ที่จะปกป้องชามอาหาร ก็อาจทำให้เกิดอาการก้าวร้าวได้”
นางแคโรลิน เมนทีธ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมสุนัขและครูฝึกสุนัข ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีสุนัขกัด มักเกิดขึ้นบ่อยในช่วงเทศกาลวันหยุด และมีบ่อยครั้งที่เจ้าของไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้มันขาดสติ
“คริสต์มาสอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง เมื่อเจ้าของมอบให้คนอื่นดูแลสุนัขแทนในขณะที่ออกไปซื้อของ” บ้านที่เต็มไปด้วยแขก และเด็กที่เล่นซนทั้งวัน รวมถึงการที่เจ้าของอาจไม่มีเวลาพาไปเดินเล่น อาจทำให้สุนัขเบื่อและสับสน”
นางเมนทีธกล่าวว่า “มนุษย์มีทักษะการพูด ดังนั้นหากเรารู้สึกอึดอัด เราก็พูดได้” แต่ “สุนัขมีเพียงภาษากายที่ใช้ในการสื่อสาร” ซึ่งอาจทำให้เราเข้าใจผิดได้ง่าย ๆ เวลามันต้องการบอกอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะในช่วงที่เรามีหลายสิ่งต้องทำในเทศกาลคริสต์มาส
ให้สังเกตสัญญาณความเจ็บปวด
ดร.เวนส์ลีย์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดของปีก็ตาม ผู้ที่เลี้ยงสุนัขมากกว่าหนึ่งตัวควรตรวจตราพฤติกรรมที่สุนัขมีต่อกัน “หากมีพฤติกรรมที่แข่งขันแย่งชิงในหมู่สุนัข ก็อาจนำไปสู่ความรุนแรงระหว่างพวกมันเอง ซึ่งอาจจะลามไปถึงเจ้าของได้”
สุนัขที่นิสัยดี มีโอกาสจะกัดได้ หากว่ามันรู้สึกเจ็บปวดทางใจ เช่น ถูกสั่งไม่ให้นั่งขวางประตู เป็นต้น
นอกจากนี้ โรคตับ ซึ่งส่งผลถึงสมอง และเนื้องอกในสมอง อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สัตว์มีพฤติกรรมที่คาดเดาได้ยาก
“สุนัขอาจมีพฤติกรรมรุนแรงได้หากรู้สึกกลัว และอาจหนีไปซ่อนตัวหลังจากที่กัดคนแล้ว”
ควรระมัดระวังดูแลเด็ก
ตัวเลขของเอ็นเอชเอส ชี้ว่า เมื่อปี 2014-15 มีประชาชน 7,227 คนต้องเข้ารับการรักษาหลังจากถูกสุนัข “กัดหรือทำร้าย” โดยส่วนใหญ่เป็นเด็ก และมีเด็กอายุต่ำกว่าเก้าขวบ 1,159 คน ที่ต้องนอนโรงพยาบาล
ผลงานวิจัยโดยวารสาร บริติช เมดิคัลเจอร์นัล (บีเอ็มเจ) พบว่าร้อยละ 76 ของกรณีสุนัขกัดที่เกิดขึ้นกับเด็ก จะมีอาการบาดเจ็บที่ปาก จมูก และแก้ม โดยเป็นเพราะความสูงของตัวเด็ก และบาดแผลจากการถูกกัดที่คอ ถือเป็นอันตรายต่อเด็กมาก เนื่องจากอาจทำให้เสียเลือดตายได้ในกรณีที่เส้นเลือดแดงขาด
ดร.เวนส์ลีย์ ระบุว่า สุนัขที่ไม่ได้ถูกฝึกมา อาจเกิดอาการตื่นกลัวเมื่อเจอเด็ก “มนุษย์ตัวเล็ก ๆ ที่มีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น ส่งเสียงแหลม และพยายามจะเข้าไปกอด อุ้ม หรือโบกมือให้สุนัข อาจทำให้มันกลัว”
ก่อนจะกัด สุนัขมักจะแสดงอาการกังวล เช่น เลียปาก หดตัวลงต่ำ ทำหูลู่ไปด้านหลัง และซุกหางไว้ระหว่างขาหลัง ซึ่งเด็กอาจอ่านพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ออก และเข้าใจว่าการแยกเขี้ยวคือการยิ้มให้
นางเมนทีธ กล่าวว่า เมื่อสุนัขจู่โจม เจ้าของมักจะพูดว่ามันกัดโดยไม่มีพฤติกรรมเตือนล่วงหน้า แต่ที่จริงแล้วสุนัขมีแนวโน้มจะพยายามแสดงออกมาเป็นเวลาหลายเดือน “เรารับสุนัขเข้ามาในชีวิต และเราไม่ได้รับฟังพวกมัน”
การฝึกสอนเป็นการลงทุนที่ดี
เมื่อพูดถึงความปลอดภัยของการทิ้งสุนัขให้อยู่กับเด็ก หรือผู้ใหญ่ที่เป็นคนแปลกหน้า ให้คำนึงถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาของสุนัขด้วยว่ามันคุ้นเคยกับเด็กหรือไม่ และไว้ใจได้หรือไม่ว่ามันจะทำตัวดีในขณะที่ไม่มีเจ้าของอยู่ด้วย
ดร.เวนส์ลีย์ กล่าวว่า “ปัญหาที่เราพบ เกิดขึ้นเมื่อลูกสุนัขไม่คุ้นเคยกับภาพและเสียงรอบตัว… เช่นในกรณีที่ลูกสุนัขถูกเลี้ยงมาในฟาร์มตามต่างจังหวัดเงียบ ๆ แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีคนสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ต จากนั้นก็นัดกันไปรับที่จุดแวะพักรถที่ไหนสักแห่งกลางทาง แล้วพากลับไปอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของครอบครัวในเมือง ซึ่งเจ้าของอาจคาดหวังให้สุนัขเข้าใจโลกรอบตัวของมัน แต่สุนัขอาจเป็นกังวลและกลัวมาก จนแสดงออกด้วยพฤติกรรมรุนแรง”
ทั้งนี้ ผู้เชียวชาญแนะนำว่า การนำเข้าโรงเรียนฝึกตั้งแต่เนิ่น ๆ เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมก้าวร้าวในอนาคตได้ โดยควรเริ่มฝึกตั้งแต่สุนัขยังเล็ก