การดูแลลูกสุนัขอายุต่ำกว่า 4 สัปดาห์

การดูแลลูกสุนัขอายุต่ำกว่า 4 สัปดาห์

น้องหมาช่วงอายุต่ำกว่า 4 สัปดาห์เป็นช่วงที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นช่วงอายุที่อ่อนไหวต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่นอุณหภูมิ อาหาร (นม) และการเจ็บป่วย

ดังนั้นการเข้าใจถึงภาวะวิกฤตรวมทั้งการป้องกัน และการเฝ้าระวังจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรรู้เพื่อจะได้รับมือกับน้องหมาได้อย่างทันท่วงที

ภาวะวิกฤตที่พบได้ทั่วไป

ตัวเย็น/อุณหภูมิร่างกายต่ำ

เพราะอุณหภูมิร่างกายของน้องหมาจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมจนถึงช่วงอายุ 2 สัปดาห์ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีอุณหภูมิอยู่ที่ 95 – 98 °F ในช่วง 2 สัปดาห์แรก และเพิ่มขึ้นไปที่ 97 – 100 °F  ในช่วงเวลาต่อมา น้องหมาที่อุณหภูมิร่างกายต่ำจะมีการปรับตัวให้หัวใจเต้นช้าลงเพื่อลดอัตราการเผาผลาญในร่างกาย ซึ่งอัตราการเต้นหัวใจปกติของน้องหมาจะอยู่ที่ 200 – 220 ครั้ง/นาทีในช่วง 2 สัปดาห์แรกก่อนที่จะมีปรับสภาพของร่างกายของระบบประสาทภายในร่างกาย จึงลดอัตราการเต้นของหัวใจลงมาเหลือเพียง 100 – 140 ครั้ง/นาที

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

อาการทั่วไปที่จะพบได้ในน้องหมาทีมีภาวะน้ำตาลต่ำ คือ “ซึม อ่อนแรง ร้องเสียงดัง และดูดนมแม่ได้ไม่ดี” 

ซึ่งภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกิดจากการสร้างน้ำตาลภายในตับยังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ และการตอบสนองของร่างกายในเวลาที่น้ำตาลในเลือดต่ำยังไม่สมบูรณ์ 
น้องหมาที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นเวลานานจะทำให้เกิดความเสียหายของสมองในอนาคตได้เนื่องจากสมองของน้องหมาจะใช้พลังงานจากน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตในการทำงานเป็นหลัก การขาดน้ำตาลจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับน้องหมา

ภาวะขาดน้ำและท้องเสีย

การขาดน้ำ เป็นอีกภาวะนึงที่พบได้บ่อยในน้องหมาที่ป่วย ซึ่งมีสาเหตุมาจาก “การดูดนมแม่ได้ไม่เพียงพอหรือจากการท้องเสีย ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือมีไข้” 
ซึ่งการสังเกตภาวะขาดน้ำในน้องหมานั้นทำได้ยาก เนื่องจากพื้นที่ในชั้นใต้ผิวหนังยังมีน้อย ทำให้การดึงหนังเพื่อตรวจภาวะการขาดน้ำนั้นมีผลว่าเป็นปกติอยู่เสมอในน้องหมาอายุต่ำกว่า 2 สัปดาห์  

วิธีที่แม่นยำกว่าในการประเมินภาวะขาดน้ำคือการดูสีของฉี่ เพราะโดยปกติแล้วสีฉี่ของน้องหมาค่อนข้างจะเจือจางมาก ซึ่งในตัวที่มีภาวะขาดน้ำ สีของฉี่จะเข้มขึ้น ร่วมกับเหงือกที่จะดูเหนียวขึ้น ภาวะขาดน้ำจะทำให้เกิดภาวะความดันเลือดต่ำ ซึ่งในน้องหมาจะถือว่าอันตรายมาก เนื่องจากหัวใจของน้องหมาจะยังเพิ่มความดันเลือดได้ไม่เพียงพอ เพราะกล้ามเนื้อหัวใจยังบีบตัวได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งไตยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุลของน้ำและแร่ธาตุ จนทำให้เกิดภาวะขาดน้ำที่รุนแรงตามมา

อาการท้องเสียเป็นอีกอาการที่จะพบบ่อยในน้องหมาป่วย ซึ่งจะพบว่ามีอาการ “ท้องกาง ร้องเสียงดัง ไม่กิน และซึมลง” ซึ่งในตัวที่มีอาการท้องเสียจะพบว่าน้องหมาจะเปื้อนอึที่บริเวณก้นและตามตัว แต่บางครั้งก็สังเกตได้ยาก เนื่องจากแม่จะคอยเลียทำความสะอาดให้ลูกอยู่เสมอ

ปัญหาทางเดินหายใจ

ปัญหาทางเดินหายใจสามารถเห็นได้ชัดเจนจากการอ้าปากหายใจ และเวลาหายใจออกต้องใช้แรงมากขึ้น อัตราการหายใจปกติของน้องหมาช่วง 2 สัปดาห์แรกจะอยู่ที่ 15 -36 ครั้ง/นาที และจะเพิ่มเป็น 16-32 ครั้งต่อนาที ในในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา โดยปกติมักจะมีสาเหตุจาก “ปอดบวมจากการติดเชื้อ การสำลักนม และปอดบวมจากเชื้อไวรัส”        


การป้องกัน

ให้อาหารที่เหมาะสมกับและทำการถ่ายพยาธิแม่สุนัข ร่วมกับการรักษาความสะอาด เพื่อที่จะส่งผลที่ดีต่อตัวลูกตามมา หากมีน้องหมาตาย ควรส่งให้สัตวแพทย์ชันสูตร เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุการตาย จะได้ป้องกันและรักษาให้กับน้องหมาตัวที่เหลือ

การเฝ้าระวัง

น้องหมาสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว หากได้รับการจัดการและการรักษาอย่างทันท่วงที ควรเฝ้าระวังทุก 12 ชม. โดยเฝ้าระวังตั้งแต่การทำกิจกรรมต่างๆ เช่น

  • ดูร่าเริ่ง/เล่นกับเรามากขึ้นบ้างไหม?
  • กินได้ไหม?
  • นอนหลับดีหรือเปล่า?
  • ดูมีแรงขึ้นบ้างหรือเปล่า?

น้องหมาในช่วงอายุ 4 สัปดาห์แรก เป็นช่วงอายุที่จะเกิดภาวะวิกฤตต่างๆ ได้ง่าย แม้ภาวะเหล่านั้นดูจะเป็นเรื่องทั่วไปที่เจอได้ แต่ก็อันตรายถึงชีวิต หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที

เพราะฉะนั้นอย่าลืมดูแลน้องหมาอย่างเอาใจใส่และใกล้ชิด เพื่อที่น้องหมาจะได้เติบโต แข็งแรง และอยู่เป็นเพื่อนคู่ใจกับเราต่อไปได้นานๆ นะครับ


ที่มา: osdco

แชร์บทความนี้...

Vetbasket

คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *