เจ้าตูบอ้วนกลม ความน่ารักที่มาแฝงมาด้วยโรคร้าย

เจ้าตูบอ้วนกลม ความน่ารักที่มาแฝงมาด้วยโรคร้าย

สุนัขอ้วนตุ้ยนุ้ยใครเห็นก็อยากเข้าไปกอดฟัด แต่ใครจะรู้บ้างว่าเจ้าความอ้วนนี้แหละตัวดี เพราะมันอาจมาพร้อมกับโรคร้ายที่เราคาดไม่ถึงก็ได้ คราวนี้มาดูกันดีกว่าว่าเจ้าความอ้วนนี้มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง?

สาเหตุของความอ้วนของเจ้าตูบ…

1. พันธุกรรม

บางสายพันธุ์มีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนอยู่แล้ว เช่น ดัชชุน บูลด็อก เซนต์เบอร์นาร์ด เชาเชา ปั๊ก หากเราเลี้ยงพันธุ์เหล่านี้อยู่ ก็จะต้องใส่ใจเขาเป็นพิเศษ และคอยควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนจนเกินไป

2. ช่วงวัย

เมื่อน้องหมาอายุมากกว่า 5 ปี ก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอ้วนมากถึง 30 – 40% เพราะอัตราการเผาผลาญอาหารทำงานได้น้อยลง โดยจะพบมากที่สุดคืออายุประมาณ 6 – 8 ปี จากนั้นจะค่อยๆ ลดลง และคงที่ หลังจากอายุ 12 ปีไปแล้ว

3. เพศ

เพศเมียมีแนวโน้มที่จะมีโอกาสเป็นโรคอ้วนได้ง่ายกว่าเพศผู้ เพราะฮอร์โมนเพศที่แตกต่างกัน รวมทั้งรูปแบบการใช้ชีวิต และกิจกรรมที่อาจต่างกันไปในแต่ละเพศด้วย

4. การทำหมัน

น้องหมาที่ทำหมันจะมีความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนสูงกว่าน้องหมาที่ยังไม่ได้ทำหมันถึง 2 เท่า เนื่องจากฮอร์โมนเพศลดลงก็จะทำให้ระบบเผาพลาญลดลงตามไปด้วย

5. โภชนาการ

ถ้าให้อาหารแต่ละมื้อมากเกินไป ก็ทำให้น้องหมาติดนิสัยกินเยอะ รวมทั้งการให้อาหารสำเร็จรูปแบบตั้งทิ้งไว้ หิวเมื่อไหร่ก็ทาน ทำให้น้องหมาได้รับอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย อาจทำให้เกิดภาวะอ้วนตามมาได้

6. ขาดการออกกำลังกาย

เจ้าของไม่พาออกไปวิ่งหรือทำกิจกรรม จะทำให้น้องหมาขี้เกียจจนเคยตัว และนำมาสู่ความอ้วนได้

7. โรคบางชนิด

ส่งผลให้น้องหมากลายเป็นโรคอ้วนได้ เช่น

  • Cushing’s Syndrome : ร่างกายผลิตฮอร์โมน Cortisol ที่เกิดจากต่อมหมวกไตทำงานมากเกินความจำเป็น ซึ่งอาจเกิดจากการได้รับยาสเตียรอยด์ในรูปแบบต่างๆ จากการรักษาโรคบางโรค เช่น โรคผิวหนัง โรคภูมิคุ้มกันไวเกิน หรือการได้รับสมุนไพรที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์เป็นเวลานานๆ ทำให้น้องหมาเกิดโรคนี้ตามมาได้
  • Hypothyroidism : ภาวะต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาไม่เพียงพอ อาจเกิดจากการได้รับยาบางตัวเข้าไป แล้วไปส่งผลไปกดการสร้างฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาระงับชักบางชนิด ยาฆ่าเชื้อบางชนิด ฯลฯ จึงทำให้เกิดภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำได้ เป็นต้น

8. ยาบางชนิด

อาจทำน้องหมาเจริญอาหารมากขึ้น เช่น ยาระงับอาการชักบางตัว และมียากลุ่มสเตียรอยด์จะกระตุ้นให้เกิดการสะสมไขมันและน้ำตาลบริเวณหน้าท้อง อาจทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้

โรคมากมายที่แฝงมาพร้อมความอ้วนของเจ้าตูบ

การที่เราปล่อยให้น้องหมาอ้วนเกินไปนั้น อาจจะนำพาสารพัดโรคมาสู่น้องหมาได้โดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นเกิดปัญหาที่ข้อต่อเพราะต้องรองรับน้ำหนักมากเกินไป, ปัญหาหายใจได้ลำบากหรือติดขัด, เสี่ยงต่อโรคความดันสูง, โรคหัวใจ, โรคเบาหวาน, เกิดโรคผิวหนังได้ง่าย เสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกเต้านมบางชนิด และยังมีโรคอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้น้องหมาของเราสุขภาพไม่ดีได้ เห็นแบบนี้แล้ว แต่ละโรคที่เกิดขึ้นจากความอ้วนนั้น เป็นโรคที่น่ากลัวอย่างที่เราก็คาดไม่ถึงมาก่อน

“วิธีเอาชนะโรคอ้วนให้อยู่หมัด”

วิธีที่ 1 : แบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กๆ แต่หลายมื้อ เราอาจแบ่งเป็นวันละ 2 – 4 มื้อ จะช่วยกระตุ้นร่างกายให้เผาผลาญอาหารได้ดีกว่าให้เพียงแค่มื้อเดียว อีกทั้งยังช่วยไม่ให้น้องหมาหิวมากเกินไปด้วย และควรเลือกอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ เส้นใยสูง หรืออาจจะให้อาหารสำเร็จรูปที่เป็นสูตรลดน้ำหนักโดยเฉพาะก็สะดวกดี อีกอย่างที่ควรงดก็คือ การให้ขนมพร่ำเพรื่อ หรืองดขนมขบเคี้ยวระหว่างวันไปเลยก็จะดีมาก และที่สำคัญไม่ควรให้อาหารที่มีแคลอรีสูงๆ เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารที่ผ่านการปรุงด้วยการทอด เป็นต้น


วิธีที่ 2 : พาไปออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะพาไปเดินเล่น พาไปวิ่ง หาของเล่นมาให้น้องหมา หรือเข้าคอร์สเรียนว่ายน้ำ ซึ่งการว่ายน้ำเป็นวิธีที่เวิร์คแบบสุดๆ เพราะการว่ายน้ำนอกจากจะช่วยส่งเสริมกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายแล้ว น้ำยังช่วยพยุงไม่ให้กล้ามเนื้อของน้องหมาได้รับแรงกระแทกมากจนเกินไป และการที่น้องหมาได้ปลดปล่อยพลังงานออกมา จะช่วยพัฒนาทางด้านร่างกายให้แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระดูก ข้อต่อ หัวใจ ปอด แถมยังช่วยเสริมสุขภาพจิตให้ดีขึ้นอีกด้วย

น้องหมาก็เหมือนกับคน การลดน้ำหนักไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ต้องอาศัยความตั้งใจจริงของเจ้าของ หากทำได้สำเร็จ น้องหมาก็จะมีสุขภาพที่ดีขึ้น และอยู่เป็นที่รักของเราไปได้อีกนาน แต่ถ้าจะให้ดีทั้งเจ้าของและน้องหมาควรลดไปพร้อมๆ เพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งคู่ แถมยังได้ทำกิจกรรมร่วมกันอีกด้วยนะ


อ้างอิง: osdco

แชร์บทความนี้...

Vetbasket

คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *