ผ่าร่าง “เหมียวจอมเขมือบ” อ้วนกลมจนเครื่องในเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
BBC News ไทย / ภาพปก : GETTY IMAGES
เผยแพร่ : 12 พฤศจิกายน 2023
เมื่อเราส่องดูคลิปวิดีโอหรือเนื้อหาเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในสื่อสังคมออนไลน์ทุกวันนี้ ดูเหมือนว่าทาสแมวจำนวนไม่น้อยปรนเปรอเหมียวผู้เป็นเจ้านายด้วยอาหารเลิศรสแบบไม่อั้น เนื่องจากต้องการ “ขุน” ให้น้องแมวอ้วนกลม น่ากอดรัดฟัดเหวี่ยงกว่าเก่านั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้แมวกินอาหารแบบบุฟเฟต์ โดยสามารถกินได้มากตามใจชอบทั้งวัน นอกจากจะทำให้น้องเหมียวตุ้ยนุ้ยขึ้นจนแทบจะกลิ้งได้ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพและก่อโรคมากมายแล้ว ความอ้วนยังส่งผลกระทบที่คาดไม่ถึงต่ออวัยวะภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับระบบทางเดินอาหาร ซึ่งจะดูดซึมสารอาหารที่มีประโยชน์ได้น้อยลงมาก และเกิดความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรจุลชีพ (microbiota) ในพุงของแมวอ้วนด้วย
รายงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Animal Science ซึ่งจัดทำโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ วิทยาเขตเออร์บานา-แชมเปญ ในสหรัฐฯ ชี้ถึงผลการค้นพบที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่ โดยระบุว่ายิ่งแมวอ้วนกินมากขึ้นเท่าไหร่ ร่างกายของมันก็ยิ่งดูดซึมสารอาหารได้น้อยลงเท่านั้น ทาสแมวจึงไม่ควรปล่อยให้เจ้านายกินอาหารปริมาณมากตามใจชอบ และควรกระตุ้นให้น้องเหมียวออกกำลังโดยขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้แมวอ้วนลงพุงนั่นเอง
ดร.เคลลี สวอนสัน นักโภชนาการซึ่งเป็นผู้นำทีมวิจัยบอกว่า ได้ทำการทดลองกับแมวผอมตัวเมียที่ทำหมันแล้ว 11 ตัว โดยปล่อยให้มันกินอาหารแบบบุฟเฟต์ได้อย่างเสรีเป็นเวลาทั้งสิ้น 18 สัปดาห์ เพื่อติดตามดูความเปลี่ยนแปลงของระบบเผาผลาญใช้พลังงานหรือเมตาบอลิซึม (metabolism) ในร่างกาย รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของระบบทางเดินอาหารซึ่งประกอบด้วยกระเพาะและลำไส้เป็นหลัก
ในสองสัปดาห์แรก แมวที่เข้าร่วมการทดลองจะได้รับอาหารในปริมาณจำกัด โดยเป็นอาหารสำเร็จรูปที่มีวางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด และผ่านการคัดเลือกมาแล้วว่ามีคุณภาพดี มีสัดส่วนของสารอาหารที่สมดุล เพื่อที่นักวิจัยจะได้ใช้ผลตรวจร่างกายแมวในช่วงนี้เป็นค่าพื้นฐาน ในการเปรียบเทียบกับผลตรวจร่างกายแมวตอนที่กินจนอ้วนขึ้นต่อไป
หลังสิ้นสุดสองสัปดาห์แรก แมวผอมทั้ง 11 ตัว ได้รับการปลดปล่อยจากระบบควบคุมการให้อาหาร มาสู่งานเลี้ยงบุฟเฟต์ที่พวกมันจะกินเท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งแมวผอมทั้งหมดก็ไม่รีรอ พุ่งเข้าใส่อาหารและกินอย่างตะกละตะกรามทันที
มีการเก็บตัวอย่างเลือดและอุจจาระของแมวมาตรวจสอบ เมื่อเวลาผ่านไป 6, 12, และ 18 สัปดาห์ รวมทั้งมีการเฝ้าดูความเคลื่อนไหวเช่นการเล่นหรือวิ่งไปมาของแมวทางกล้องวงจรปิดด้วย โดยทีมผู้วิจัยไม่ได้มีการบังคับหรือกระตุ้นให้พวกมันต้องออกกำลังกายเป็นพิเศษในระหว่างนั้นแต่อย่างใด
“เดิมเราคาดว่า แมวที่อ้วนขึ้นจะมีความกระตือรือร้นเคลื่อนไหวร่างกายลดน้อยลง แต่ผลปรากฏว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย” ดร.สวอนสันกล่าว “อย่างไรก็ตาม เราพบว่าเมื่อแมวมีมวลกายและปริมาณไขมันในตัวเพิ่มสูงขึ้น ร่างกายจะย่อยและดูดซึมสารอาหารที่มีประโยชน์ได้น้อยลง แม้จะกินเข้าไปมากก็ตาม เนื่องจากอาหารมื้อใหญ่จะเคลื่อนผ่านกระเพาะและลำไส้ไปเร็วกว่า จนร่างกายไม่มีเวลาย่อยและดูดซึมสารอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับการกินอาหารในปริมาณที่พอเหมาะพอควร”
ผลวิจัยยังชี้ว่า อุจจาระที่แมวกินจุถ่ายออกมานอกจากจะมีปริมาณมากกว่าปกติแล้ว ยังมีความเป็นกรดสูงซึ่งแสดงว่าระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดีนัก โดยไม่สามารถดูดซึมคาร์โบไฮเดรตและไขมันได้เท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาการแบบนี้พบได้ในมนุษย์ที่มีปัญหาเรื่องการกินล้นเกินเช่นเดียวกัน
ร่างกายของแมวที่อ้วนขึ้นหลังจากผ่านการขุนนาน 18 สัปดาห์ ยังใช้เวลาในการย่อยอาหารก่อนขับถ่ายออกมาเป็นอุจจาระสั้นลงถึง 25% รวมทั้งมีสัดส่วนของประชากรจุลชีพชนิดพันธุ์ต่าง ๆ ในลำไส้เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการกินมากขึ้น, ดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง, และขับถ่ายออกมาเร็วขึ้นนั่นเอง
หลังการทดลองในขั้นตอนนี้สิ้นสุดลง ทีมผู้วิจัยได้กลับมาจำกัดอาหารแมวทั้ง 11 ตัวอีกครั้ง จนพวกมันมีน้ำหนักตัวลดลงมาอยู่ในระดับเดิมก่อนการทดลองและมีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งแสดงถึงความสำคัญของการจำกัดปริมาณอาหารที่เราให้แมวในแต่ละวัน โดยทีมผู้วิจัยแนะนำว่า คนรักแมวต้องไม่ปล่อยให้น้องเหมียวอ้วนขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไร้ขีดจำกัด จนกระทั่งสายเกินแก้และเกิดการสูญเสียขึ้น