วิธีการดูแลสุนัข
เรื่อง/ภาพปก : Royal canin
มีข้อมูลมากมายที่คุณควรรู้เมื่อคุณรับลูกสุนัขสักตัวมาเลี้ยง แต่การทำความเข้าใจความต้องการของลูกสุนัขตั้งแต่แรกนั้น จะทำให้มั่นใจได้ว่าลูกสุนัขของคุณจะมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง
มีปัจจัยหลายอย่างที่จะส่งผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของสุนัข โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์และอายุ ดังนั้น ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการดูแลลูกสุนัข ตั้งแต่ความต้องการด้านโภชนาการไปจนถึงการออกกำลังกายและการแปรงขน ล้วนต้องคำนึงถึงลักษณะเฉพาะต่างๆ ของลูกสุนัขด้วย อย่างไรก็ตาม มีหลายสิ่งหลายอย่างที่สุนัขต้องการเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีและเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสมาชิกในครอบครัว
การออกกำลังกาย
สุนัขทุกตัวต้องออกกำลังกาย แต่ความเข้มข้นและประเภทของการออกกำลังกายนั้นแตกต่างกันไปตามอายุ ขนาด และสายพันธุ์
- ควรมีพื้นที่ออกกำลังกายให้สุนัข: การพาสุนัขเดินออกไปฉี่แค่ชั่วครู่ไม่นับว่าเป็นการเดินออกกำลังกายแต่อย่างใด
- น้อยแต่บ่อย: อย่าลืมว่าสุนัขพันธุ์ขนาดกลางถึงพันธุ์ยักษ์จะมีระยะการเจริญเติบโตที่ยาวนานกว่าเพื่อให้กระดูกและข้อต่อพัฒนาเต็มที่ ดังนั้นจึงไม่ควรเดินเป็นระยะทางไกลๆ หรือเล่นกีฬาบางประเภทจนกว่าจะโตมากขึ้น ควรให้สุนัขเดินระยะทางใกล้ๆ แต่เดินบ่อยๆ แทน
- หาเวลาเล่น: การเล่นเป็นการออกกำลังกายตามธรรมชาติของสุนัข และช่วยในเรื่องการพัฒนาทางด้านจิตใจ เป็นการดีสำหรับสุนัขของคุณในหลายๆ ด้าน: ถ้าคุณสามารถพาสุนัขออกไปเล่นได้ เพื่อช่วยกระชับความสัมพันธ์ เพื่อควบคุมน้ำหนัก เพื่อทำให้สุนัขมีชีวิตชีวาและเพื่อเสริมสร้างการทำงานของระบบหัวใจหลอดเลือดและระบบภูมิคุ้มกันของสุนัข
สภาพแวดล้อม
ลูกสุนัขต้องการเรียนรู้และมักจะสนใจสิ่งรอบตัวเป็นอย่างมาก ซึ่งหากได้รับประสบการณ์ด้านลบจะส่งผลกระทบระยะยาว พัฒนาการด้านพฤติกรรมของลูกสุนัขประกอบด้วยหลายระยะ รวมไปถึงระยะของการเข้าสังคม ซึ่งเริ่มตั้งแต่อายุ 4- 14 สัปดาห์
ระยะของความกลัวอยู่ภายในระยะของการเข้าสังคม ดังนั้นการบาดเจ็บใดๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้จึงอาจมีผลกระทบเชิงลบในระยะยาว เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องใส่ใจกับประสบการณ์ด้านสภาพแวดล้อมของลูกสุนัขตั้งแต่วันแรก
- ให้ลูกสุนัขมีที่นอนของตัวเอง: คุณควรเตรียมที่นอนให้ลูกสุนัข เพื่อให้ลูกสุนัขมีพื้นที่ส่วนตัวและรู้สึกปลอดภัย
- สร้างสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดใจ: ของที่ลูกสุนัขชื่นชอบ เช่น กล่องกระดาษแข็งขนาดใหญ่สำหรับซ่อนตัว และของเล่นยางสำหรับเคี้ยว สิ่งสำคัญคือ ควรมีคนคอยดูแลทุกครั้งที่เล่น
- ค่อยๆ ทำให้ลูกสุนัขคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใหม่: หากคุณอาศัยอยู่ในเมือง คุณควรค่อยๆ ทำให้ลูกสุนัขคุ้นเคยกับสิ่งที่พวกเขาจะต้องพบเจอ เช่น รถยนต์ บันไดเลื่อน ลิฟต์ รถไฟ รถรางหรือรถประจำทาง
- ฝึกให้อยู่ตามลำพัง: ลูกสุนัขต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ตามลำพังในบางครั้งด้วยเช่นกัน
- แนะนำให้รู้จักกับสุนัขตัวอื่น: ลูกสุนัขจำเป็นต้องพบปะกับสุนัขตัวอื่น สัตว์ประเภทอื่น และทำกิจกรรมนอกบ้านกับครอบครัวให้ได้มากที่สุด เพื่อพัฒนาการในเรื่องการเข้าสังคม
- พาลูกสุนัขออกไปเล่นนอกบ้าน: อย่าลืมที่จะพาลูกสุนัขออกไปข้างนอกบ้าง ลูกสุนัขจะเริ่มสำรวจสภาพแวดล้อมรอบตัวตั้งแต่อายุสองเดือน
การให้อาหาร
เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย ความต้องการสารอาหารจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อลูกสุนัขของคุณโตขึ้น ในระยะแรก ลูกสุนัขจะต้องการอาหารมื้อเล็กๆ หลายมื้อต่อวัน แล้วค่อยๆ ลดลงจนเหลือหนึ่งหรือสองมื้อ ขนาดและสายพันธุ์ของสุนัขมีผลต่อความต้องการด้านโภชนาการพอๆ กัน เนื่องจากสุนัขบางตัวมีความทนทานต่อการย่อยอาหารที่แตกต่างกันไป สุนัขควรดื่มน้ำบ่อยๆ และไม่ควรให้อาหารสุนัขมากจนเกินไป
หากคุณไม่แน่ใจว่าสุนัขควรได้รับอาหารมากน้อยแค่ไหน หรือช่วงของการเจริญเติบโตจะมีผลต่อเรื่องนี้อย่างไร โปรดสอบถามสัตวแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ สัตวแพทย์จะเป็นผู้ที่สามารถให้คำแนะนำเพื่อการเจริญเติบโตที่เหมาะสม และช่วยป้องกันโรคอ้วนเพื่อไม่ให้ข้อต่อที่กำลังพัฒนารับน้ำหนักมากเกินไป
สุดท้ายแล้ว อาหารจะต้องให้พลังงาน แต่ก็ต้องสร้างและรักษาเซลล์ของร่างกาย เพื่อช่วยป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหาร ผิวหนัง ฟัน ข้อต่อ รวมทั้งปัญหาที่เกิดจากความชรา อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ตรงตามความต้องการของโภชนาการและสุขภาพ จะประกอบด้วยสารอาหารในปริมาณที่เหมาะสม
- อย่าเปลี่ยนอาหารอย่างกะทันหัน: เพื่อหลีกเลี่ยงความแปรปรวนของระบบทางเดินอาหารในลูกสุนัข เมื่อคุณพาลูกสุนัขเข้าบ้านครั้งแรก คุณควรให้ลูกสุนัขกินอาหารเหมือนที่เคยกินก่อนจะมาอยู่กับคุณ หากคุณต้องการเปลี่ยนอาหาร ให้ค่อยๆ เปลี่ยนในช่วงสัปดาห์แรก โดยผสมอาหารแบบใหม่และแบบเดิมในสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป
- ให้ลูกสุนัขกินอาหารที่เหมาะกับอายุ: มีอาหารสูตรพิเศษสำหรับลูกสุนัขในช่วงอายุต่างๆ ซึ่งเหมาะสมกับความต้องการเพื่อการเจริญเติบโตของลูกสุนัข เพื่อการเจริญเติบโตที่เหมาะสม โปรดทำตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
- ทำเป็นกิจวัตรประจำวัน: สุนัขเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่เป็นฝูง และต้องการแสดงลำดับชั้นที่ชัดเจน ควรให้อาหารลูกสุนัขของคุณทุกวันในสถานที่เดิม เวลาเดิม และให้หลังจากที่คุณและครอบครัวรับประทานอาหารแล้ว เพื่อทำให้สุนัขเข้าใจว่าคุณเป็นใหญ่ในบ้าน หลังจากกินอาหารแล้ว หากเป็นไปได้ อย่าให้ลูกสุนัขกระโดดไปมาประมาณหนึ่งถึงสองชั่วโมง
- ควรให้ขนมในบางโอกาสเท่านั้น: ไม่ควรให้ขนมบ่อยๆ เพื่อรักษาน้ำหนักของสุนัขให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ห้ามให้น้ำตาลและช็อกโกแลต เนื่องจากช็อกโกแลตอาจเป็นพิษต่อสุนัขได้ หรือคุณยังสามารถให้อาหารเม็ดแทนขนมได้
การแปรงขนและสุขภาพ
การแปรงขนเป็นกิจวัตรประจำวันที่ควรทำ เพราะการแปรงขนจะช่วยทำให้สุขภาพผิวหนังและขนของลูกสุนัขดีขึ้น รวมถึงเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างลูกสุนัขกับคุณอีกด้วย นอกจากนี้ การแปรงขนอาจช่วยให้คุณตรวจพบความผิดปกติต่างๆ ได้ เช่น เห็บหมัด ความผิดปกติของผิวหนัง หรือบริเวณที่มีปัญหาในระยะแรก สุนัขส่วนใหญ่มีความสุขกับการแปรงขนถ้ามีความคุ้นชินตั้งแต่ยังเด็ก แต่ก็ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการเริ่มต้น
- เริ่มดูแลฟันตั้งแต่ยังเด็ก: วิธีนี้จะทำให้ลูกสุนัขของคุณคุ้นเคยกับการแปรงฟันด้วยแปรงสีฟันและยาสีฟันที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับสุนัข พยายามแปรงฟันลูกสุนัขของคุณให้ได้หลายๆ ครั้งต่อสัปดาห์
- นัดหมายการฉีดวัคซีน: การฉีดวัคซีนช่วยป้องกันโรคติดต่อ และในบางกรณีก็ป้องกันโรคที่มีอันตรายถึงชีวิตได้ วัคซีนบางตัวจำเป็นต้องฉีด แต่บางตัวเป็นวัคซีนที่แนะนำให้ฉีด ปกติแล้วลูกสุนัขจะเริ่มโปรแกรมการฉีดวัคซีนเมื่ออายุหกถึงแปดสัปดาห์
- สอบถามสัตวแพทย์เกี่ยวกับการถ่ายพยาธิ: ลูกสุนัขมักจะมีพยาธิ และควรทำการถ่ายพยาธิทุกเดือนจนอายุครบหกเดือน จากนั้นค่อยเปลี่ยนเป็นทุกหกเดือน สัตวแพทย์จะสามารถแนะนำตารางนัดหมายในการถ่ายพยาธิที่เหมาะสมกับลูกสุนัขของคุณมากที่สุดได้ ดังนั้น คุณควรทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- สอบถามสัตวแพทย์เกี่ยวกับการป้องกันหมัด: อย่าลืมปกป้องลูกสุนัขของคุณจากหมัดและเห็บ เพื่อให้ได้ผลที่สุด คุณจะต้องดูแลรักษาทั้งสุนัขและสภาพแวดล้อมด้วย ขอคำปรึกษาจากสัตวแพทย์
- ควรทำหมันสัตว์เลี้ยงตัวเมียหรือตัวผู้: การตัดสินใจว่าจะทำหมันให้สัตว์เลี้ยงตัวเมียหรือตัวผู้นั้นเป็นการตัดสินใจที่สำคัญ จึงควรพิจารณาให้รอบคอบ ซึ่งต้องเลือกระหว่างประโยชน์ที่ได้จากการทำหมันให้ตัวเมียหรือตัวผู้ กับความต้องการให้มีลูกในอนาคต
การฝึก
พฤติกรรมที่ดีและการเชื่อฟังต้องเริ่มต้นตั้งแต่เนิ่นๆ การฝึกของคุณจำเป็นต้องเริ่มให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในช่วงอายุที่ลูกสุนัขของคุณมีความสามารถในการเรียนรู้ตามธรรมชาติได้สูงที่สุด
เพื่อความสะดวกสบายของคุณและคนอื่นๆ สุนัขของคุณต้องเข้าใจกฎพื้นฐานของชีวิต อย่าลังเลที่จะโทรติดต่อขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพเพื่อฝึกสุนัขของคุณ มีสมาคมสุนัขและโรงเรียนฝึกสุนัขอยู่หลายแห่งที่สามารถช่วยคุณทำภารกิจนี้ได้
- การฝึกให้อยู่บ้าน: ลูกสุนัขที่นำมาเลี้ยงใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการฝึกให้อยู่บ้าน การฝึกต้องใช้เวลาและความอดทน ไม่ควรลงโทษหรือดุลูกสุนัขหากขับถ่ายโดยไม่ตั้งใจ ควรหาวิธีป้องกันลูกสุนัขไม่ให้ขับถ่ายในบ้านแทน
- เริ่มเรียกชื่อตั้งแต่ยังเด็ก: ขั้นแรก ให้เริ่มจากออกเสียงชื่อของลูกสุนัขช้าๆ และชัดเจนเพื่อดึงความสนใจ และเรียกชื่อลูกสุนัขทุกครั้งที่บอกให้ทำตามคำสั่ง เลือกช่วงเวลาที่ลูกสุนัขมีความตื่นตัวเพื่อช่วยให้ลูกสุนัขทำความรู้จักกับคุณ และเรียกให้ลูกสุนัขมาหาเพื่อสอนให้ทำตามคำสั่ง
- ค่อยๆ ทำให้ลูกสุนัขคุ้นเคยกับรถยนต์: ทำให้ลูกสุนัขของคุณคุ้นเคยกับการนั่งในรถยนต์ตั้งแต่ยังเด็กๆ ลูกสุนัขจะได้ไม่กลัวการขึ้นรถ ลองขับไปที่ใกล้ๆ สักสองสามครั้งก่อนที่จะเริ่มขับไปไหนไกลๆ
สำหรับการนำลูกสุนัขมาเลี้ยงครั้งแรกนั้น คุณจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ มากมาย รวมไปถึงเรื่องพื้นฐานต่างๆ ทั้งหมดที่จะช่วยให้ลูกสุนัขมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ แต่การเริ่มต้นอย่างถูกวิธีนั้น จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นสำหรับคุณและสุนัขของคุณ และถ้าคุณมีข้อสงสัย สัตวแพทย์จะเป็นผู้ที่สามารถให้คำแนะนำและช่วยเหลือคุณได้