“เมี๊ยว…เมี๊ยว” รู้ไหมเสียงนี้บอกอะไรเรา?

“เมี๊ยว…เมี๊ยว” รู้ไหมเสียงนี้บอกอะไรเรา?

เมี๊ยว…เมี๊ยว สำหรับคนที่เลี้ยงแมวแล้ว เสียงนี้คงเป็นเสียงที่คุ้นหูกันเป็นอย่างดี เพราะไม่ว่าเจ้าเหมียวอยากได้อะไรมันก็จะร้องเมี๊ยวๆ อยู่ตลอดเวลา แต่บางที่เสียงเมี๊ยวๆ มันก็มีความหมายแอบซ่อนอยู่ และถ้าใครไม่ได้คลุกคลีอยู่กับเจ้าเหมียวแล้วล่ะก็คงบอกได้ยากว่ามันอยากจะบอกอะไรเรา

ทำไมแมวถึงร็องเมี๊ยว?… มีเหตุผลหลายๆ อย่างที่ทำให้แมวร้อง ตั้งแต่ยังเป็นลูกแมวจนถึงแมวโต เหตุผลในการร้องก็จะต่างออกไป เช่นลูกแมวร้องเหมียวใส่แม่แมวเพื่อบอกว่า “แม่แม่หนูหิว หนูหนาว หนูกลัว” เป็นต้น แต่เมื่อแมวโตขึ้นมันมักจะทำเสียงต่างๆ เพื่อการสื่อสารกับแมวตัวอื่น เช่น การขู่ (hissing) คำราม (growling) กรีดร้อง (yowling)


 

 »»» เกล็ดความรู้ : รู้ไหม…แมวจะทำเสียง “เมี๊ยว” กับคนเท่านั้นนะ

เสียงร้องเมี๊ยวๆ ของแมวจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์และการร้องของแต่ละตัว แมวในฝั่งตะวันออกของโลก โดยเฉพาะสายพันธุ์ไทยของเรานี่แหละถือว่าเป็นนักคุยชั้นยอด แมวบางตัวมีนิสัยชอบฟังเสียงตัวเอง ในขณะที่บางตัวก็ชอบคุยกับเจ้าของ แต่ถ้าหากว่าแมวของคุณคุยมากเกินไปอย่างผิดปกติ คุณควรจะต้องหาสาเหตุแล้วหล่ะว่าเป็นเพราะอะไร

ทำไมแมวเราถึงร้องมากจัง…?

สาเหตุที่แมวร้องมากผิดปกตินั้นมีหลายสาเหตุ ตั้งแต่บ่งบอกถึงสถานการณ์อันตรายไปจนถึงการเรียกร้องความสนใจ แมวที่ร้องมากเกินไปมักมีเหตุผลหลักๆ ดังต่อไปนี้

  • อาการป่วย

มีหลายโรคที่ทำให้แมวมีอาการเจ็บปวด หิวข้าวหรือน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย อย่างเช่นโรคเกี่ยวกับการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ หรือโรคไต เป็นต้น

  • เรียกร้องความสนใจ

รู้ไหม แมวไม่ได้เป็นสัตว์ที่ชอบอยู่ตัวเดียวเหมือนที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ บ่อยครั้งที่แมวร้องเพื่อต้องการให้คนมาเล่นด้วย แต่เราไม่ควรไปเล่นกับแมวทันทีที่แมวร้องเรียกเพราะจะทำให้แมวติดนิสัยเรียกร้องความสนใจได้ โดยให้แกล้งมองไปทางอื่นทำเป็นว่าไม่สนใจ เราควรเล่นกับแมวเวลาที่แมวไม่ร้องเรียกเท่านั้น ให้หาเวลาเล่นกับแมวให้บ่อยขึ้น โยนของให้เล่น ใช้ไม้ตกแมว ลูกบอลให้แมวไล่ หวีขน หรือเล่นอะไรก็ได้ โดยแมวแมวที่เล่นจนเหนื่อยในแต่ละวันแล้วจะร้องเรียกน้อยลงเอง

  • ขออาหาร

แมวบางตัวร้องทุกครั้งเมื่อเห็นเราเดินเข้าห้องครัว เพราะหวังว่าจะได้กินอะไรนิดๆ หน่อยๆ และส่วนมากจะร้องเมื่อใกล้ถึงเวลาอาหาร ถ้าเราไม่ชอบให้แมวร้องขออาหารแล้วล่ะก็ อย่าเพิ่งให้อาหารหรือขนมทันทีเวลาที่แมวร้อง ให้รอให้แมวเงียบก่อนแล้วค่อยวางอาหารให้ แต่ถ้าใช้วิธีนี้แล้วไม่ได้ผล ให้เปลี่ยนไปใช้เครื่องให้อาหารแบบตั้งเวลา แล้วแมวก็จะไปร้องใส่เครื่องให้อาหารแทนเรา ^^

  • ทักทาย

สังเกุว่าเวลาเรากลับมาจากที่ทำงานหรือกลับมาบ้าน แมวจะเดินมาร้องทักทาย หรือแม่แต่เวลาแมวเดินไปเจอคนในบ้านก็จะร้องทักทายด้วยเช่นกัน อันนี้เป็นนิสัยปกติของแมวอยู่แล้ว ให้มองว่าเจ้าเหมียวดีใจที่ได้เจอเราก็แล้วกัน

  • เหงา

แน่นอนถ้าเราทิ้งแมวให้อยู่บ้านตัวเดียวมันก็ต้องมีเหงากันบ้าง ให้ลองทิ้งของเล่นไว้ให้แมวเล่นแก้เหงาโดยหาของเล่นใหม่ๆ มาสลับให้ในแต่ละวัน หรือลองโรยอาหารนกทิ้งไว้นอกหน้าต่างให้แมวได้ดูนกไปเพลินๆ ก็ได้

  • ความเครียด

แมวที่อยู่ในภาวะเครียดจะร้องมากขึ้น เช่นการมีสัตว์เลี้ยงใหม่ในบ้าน เจ้าของมีลูก หรือมีคนแปลกหน้ามาอยู่ที่บ้าน เป็นต้น ซึ่งอาจจะต้องให้เวลาแมวได้ปรับตัว

  • แมวอายุมาก

แมวแก่ก็เหมือนคนแก่ อาจจะมีภาวะสับสนทางจิตใจหรือสมองได้ บางครั้งอาจร้องบ่อยขึ้นโดยไม่มีเหตุผลเลยก็ได้

  • อาการติดสัด

เจ้าของแมวคงคุ้นเคยกับเหตุผลนี้เป็นอย่างดีเพราะถ้าแมวที่ไม่ได้ทำหมันแล้วถึงช่วงติดสัดทีไรเจ้าของก็คงหูอื้อไปตามๆ กัน เพราะเจ้าเหมียวมันจะร้องอย่างหนักหน่วง แมวตัวเมียจะร้องเมื่อมันต้องการผสมพันธุ์ส่วนเจ้าตัวผู้ก็จะร้องเมื่อได้กลิ่นแมวตัวเมีย ดังนั้นการทำหมันก็จะช่วยลดอาการร้องเวลาติดสัดลงได้

https://www.youtube.com/watch?v=kBvIMIg7U3U

ถึงแม้ว่าเจ้าเหมียวจะร้องเสียงดังจนทำให้หลายคนรำคาญ แต่เราก็ไม่ควรละเลยเสียงร้องเหล่านี้ เพราะบางครั้งการร้องของแมวก็มีเหตุผลดีๆ แฝงอยู่ เช่นมีสิ่งผิดปกติในบ้านโดยเฉพาะสัตว์มีพิษ หากระบะทรายไม่เจอ (ถ้าไม่รีบเอากระบะทรายให้คงได้เปลียนโซฟาแน่นอน) อาหารหมด หรือมันอาจติดอยู่ในห้องออกไม่ได้ ลองสังเกตุดูว่าแมวเราร้องเพราะอะไร และเป็นเหตุผลที่เราควรสนใจไหม ที่สำคัญอย่าตี ขับไล่ หรือฉีดน้ำใส่แมวเวลามันร้อง เพราะนอกจากจะไม่ได้ทำให้แมวเงียบแล้ว ยังทำให้แมวไม่เชื่อใจและเกลียดคุณด้วย

 

เห็นไหมครับว่าเสียง “เมี๊ยว” มันบอกอะไรเราได้หลายอย่าง ถ้าเรารู้ถึงเหตุผลที่เจ้าเหมียวร้องใส่เราแล้ว เราก็จะเข้าใจความต้องการของแมวเราได้ดียิ่งขึ้น รับรองว่าเจ้าเหมียวก็จะรักคุณมากขึ้นอย่างแน่นอน

 

อ้างอิง: https://pets.webmd.com/cats/guide/cats-excessive-meowing#1

 

 

แชร์บทความนี้...

Vetbasket

คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *