แมวพันธุ์เจแปนนิส บ็อบเทล (Japanese Bobtail)
แมวพันธุ์เจแปนนิส บ็อบเทลเป็นแมวที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยม ซึ่งเราสามารถพบแมวชนิดนี้ในรูปแบบของเซรามิกแบบดั้งเดิมที่วางอยู่ตรงทางเข้าประตูเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี โดยมีการยกฝ่าเท้าและกวักมือเรียกนักท่องเที่ยว
ลักษณะภายนอก
เจแปนนิส บ็อบเทลเป็นแมวขนาดกลางและผอมเพรียวแม้ว่ามีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง และลักษณะเด่นของแมวพันธุ์นี้ก็ตรงกับชื่อของมันก็คือ การมีหางสั้น ซึ่งมีความยาวประมาณ 4 นิ้ว แต่ด้วยความที่หางของมันโค้งเป็นรูปทรงเดียวกับสว่านเปิดจุกขวด ทำให้หางดูสั้นกว่าเดิม ทั้งนี้เราสามารถพบขนที่สวย นุ่ม และเหมือนผ้าไหมของแมวพันธุ์นี้ได้หลากสีและรูปแบบ
นิสัยและอารมณ์
เจแปนนิส บ็อบเทลเป็นแมวที่กล้าหาญ ขี้สงสัย มีความกระตือรือร้น และสามารถทำให้คนแปลกหน้าหลงรักได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งยังชอบอ้อนและแสดงความรัก ทำให้มันเป็นเพื่อนที่แสนดี ความจริงแล้ว หากแมวพันธุ์นี้เห็นคนที่กำลังกระวนกระวายใจ มันก็จะยื่นเท้าให้ในทำนองเหมือนกับช่วยปลอบหรือทำให้สบายใจ
นอกจากนี้เจแปนนิส บ็อบเทลยังเป็นแมวที่คล่องแคล่วและชอบเล่นมาก โดยเฉพาะการกระโดดและการเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวา ยิ่งไปกว่านั้น แมวพันธุ์นี้เพลิดเพลินกับการได้เป็นเพื่อนกับมนุษย์ อีกทั้งยังสามารถส่งเสียงร้องจ๊อกแจ๊กและเสียงโทนอื่นๆ
ความเป็นมาและภูมิหลัง
จุดกำเนิดของแมวพันธุ์บ็อบเทลก็ยังคงมีความกำกวม แมวพันธุ์นี้อาจไม่ได้เป็นแมวสัญชาติญี่ปุ่นเสียทีเดียว มันถูกพัฒนาในภูมิภาคแถบตะวันออกอื่นๆ ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศมาเลเซีย ประเทศไทย และประเทศพม่า อย่างไรก็ตาม มีการอ้างถึงแมวพันธุ์นี้ในนิทานพื้นบ้านของชาวญี่ปุ่น เช่น มีเรื่องหนึ่งเล่าว่าเมื่อหางของแมวติดไฟจากการปะทุของเตาไฟที่อยู่ใกล้ๆ แมวก็วิ่งไปทั่วและทำให้บ้านใน Imperial city พลอยติดไฟไปด้วย เช้าวันถัดมาเมืองก็ราบเป็นหน้ากลอง ทำให้จักรพรรดิโกรธมาก และพิพากษาให้ตัดหางแมวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวอีก นอกจากนี้ยังมีตำนานของมาเนกิเนะโกะ (Maneki Neko) ซึ่งเป็นแมวที่ช่วยดึงดูดคนที่เดินผ่านไปมา ทำให้มันกลายเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี
แมวบ็อบเทลตัวแรกได้ถูกนำเข้ามาในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 1900 แต่มันก็ยังไม่ได้รับความนิยมจนกระทั่ง ค.ศ.1968 ซึ่งเป็นปีที่ Elizabeth Freret นำเข้าแมวพันธุ์บ็อบเทล 3 ตัวมาจากประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับผู้เพาะพันธุ์แมวคนอื่นๆ ที่มีความคิดเหมือนกัน ในปี ค.ศ.1969 Cat Fanciers’ Association (CFA) ก็ได้ยอมรับแมวพันธุ์นี้
ที่มา: honestdocs