“แมวอ้วน” อ้วนแล้วไง?

“แมวอ้วน” อ้วนแล้วไง?

“แมวอ้วนไม่ได้หมายความว่าสุขภาพไม่ดี แต่ถ้าอยากให้แมวสุขภาพดีก็ไม่ควรปล่อยให้อ้วนมากไปนะ”…

เจ้าของแมวหลายคนคงอยากให้แมวของตัวเองอ้วนอ้วน ตุ้ยนุ้ย เพราะมันทั้งน่ารักน่าฟัด แถมยังกอดได้เต็มไม้เต็มมืออีกด้วย แต่อย่าลืมนะครับว่าแมวก็เหมือนคนเรา ถ้าปล่อยให้อ้วนเกินไปก็ไม่ดี และจะทำให้มีปัญหาสุขภาพตามมาได้

เคยสงสัยไหมว่าเราควรจัดการแมวที่น้ำหนักเกินอย่างไร? ปัจจุบันแมวที่ปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วนมีจำนวนมากกว่าแมวที่มีน้ำหนักปกติ และมักต้องพบสัตวแพทย์บ่อยขึ้นเนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ เพราะโรคอ้วนในแมวเป็นสาเหตุโน้มน้ำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคไขมันพอกตับ และข้อต่ออักเสบได้ครับ

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าแมวของเราเป็นโรคอ้วน?

แมวอ้วนคือมีน้ำหนักตัวมากกว่าระดับปกติ 10% แต่ถ้ามากกว่า 20% ขึ้นไปก็ถือว่าเป็นโรคอ้วนแล้วนะ ตามภาพที่วงกลมไว้คือน้ำหนักตัวที่ควรจะเป็น ดังนั้นถ้าแมวมีน้ำหนักตัวมากกว่านี้ก็แสดงว่าแมวเราเริ่มอ้วนแล้ว เจ้าของสามารถสังเกตรูปร่างของแมวตัวเองได้ โดยแมวที่มีรูปร่างสมส่วน กระดูกซี่โครงและกระดูกสันหลังต้องมองไม่เห็นจากภายนอก แต่ต้องสามารถคลำเจอได้จากการสัมผัสตัวแมว เพราะถ้าจับไม่เจอก็แสดงว่าแมวเรามีไขมันสะสมมากเกินไป

แมวที่เลี้ยงในบ้านนั้นไม่เหมือนกับแมวที่อยู่ตามธรรมชาติ เพราะไม่ต้องออกล่าเหยื่อเอง และจะได้กินอาหารก็ต่อเมื่อเราเอาอาหารไปให้เท่านั้น ดังนั้นแมวเลี้ยงจึงไม่ต้องใช้พลังงานอะไรมากมายในแต่ละวัน และถ้าเขาได้รับอาหารมากเกินกว่าพลังงานที่ใช้ไป มันก็จะไปสะสมเป็นไขมันห้อยๆ ที่พุงของเขานั่นเอง

แต่ทว่าบางทีมันก็มีสาเหตุโน้มนำอย่างอื่นที่ทำให้เจ้าเหมียวของเราอ้วนได้เหมือนกันนะ…


 

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้แมวเราอ้วนได้บ้าง?

• การเลี้ยงระบบปิด เช่นในบ้าน คอนโด หรืออพาร์ตเมนต์
• เครื่องให้อาหารแบบให้แมวกดกินได้ตลอดเวลา
• การทำหมัน
• โรคเกี่ยวกับฮอร์โมนไทรอยด์ ทำให้อัตราการเผาผลาญต่ำลง
• โรคที่ทำให้แมวเคลื่อนไหวน้อยลง เช่นโรคกระดูกและข้อต่อ

แล้วผลเสียของแมวที่เป็นโรคอ้วนล่ะ?

จากการศึกษาพบว่าแมวที่เป็นโรคอ้วนจะทำให้มีอายุสั้นลง ทำให้การใช้ชีวิตลำบากขึ้น เพราะจะเหนื่อยง่าย และไม่สามารถเล่น หรือออกกำลังกายได้อย่างเต็มที่ โรคอ้วนยังทำให้มีแนวโน้มเป็นโรคต่างๆ ได้มากขึ้นเช่น

• โรคข้อกระดูกเสื่อม
• โรคตับอ่อนอักเสบ
• โรคเบาหวาน
• โรคหัวใจและหลอดเลือด
• โรคระบบทางเดินหายใจ
• โรคระบบทางเดินปัสสาวะ
• โรคตับเสื่อม ไขมันพอกตับ

เราจะจัดการและป้องกันไม่ให้แมวเป็นโรคอ้วนได้อย่างไร?

• เปลี่ยนจากการให้อาหารแมวธรรมดาเป็นอาหารแมวพลังงานต่ำ โดยการศึกษาในปัจจุบันพบว่า อาหารโปรตีนสูงและคาร์โบไฮเดรตต่ำ ส่งผลดีกับการลดน้ำหนักมากที่สุด เนื่องจากอาหารโปรตีนสูงมีความใกล้เคียงกับอาหารแมวที่ได้จากธรรมชาติ

• เปลี่ยนวิธีการให้อาหารแมว โดยปรับจากการให้อาหารแบบบุฟเฟต์ หรือวางอาหารทิ้งไว้ เป็นการให้อาหารโดยแบ่งเป็นมื้อย่อยๆ แทน ประมาณ 2-3 มื้อต่อวัน

• ไม่หยิบเศษอาหารบนโต๊ะที่เหลือจากการรับประทานอาหารให้แมวกิน แต่ยังสามารถให้แมวกินอาหารเสริมหรือขนมสำหรับแมวได้เล็กน้อยในระหว่างวัน

• คอยจับตาดูแมวอยู่เสมอ เพื่อให้แน่ใจว่ามันจะไม่แอบไปขโมยกินอาหารจากที่อื่น หรือเศษอาหารที่เพื่อนบ้านให้มา

• ทำตารางเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักของแมวเป็นรายสัปดาห์ โดยน้ำหนักตัวแมวควรจะลดลงให้ได้ 1 เปอร์เซ็นต์จากน้ำหนักเดิมในแต่ละสัปดาห์

• ควรพาแมวไปออกกำลังเป็นประจำทุกวัน โดยในระหว่างที่ออกกำลังกายควรจะนำของเล่น หรือเกมเข้ามาใช้เป็นตัวช่วย เพราะทั้ง 2 อย่างนี้จะช่วยเติมความสนุกสนาน และเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานด้วย

• เมื่อแมวกลับมามีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว ควรรักษาน้ำหนักใหม่ให้คงที่ ด้วยการให้อาหารที่มีคุณภาพสูงในปริมาณที่สมดุลกับความต้องการของร่างกาย

• ควรปรึกษาและให้ความร่วมมือกับสัตวแพทย์ในขณะที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการลดความอ้วน และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เนื่องจากหากน้ำหนักแมวลดลงอย่างรวดเร็วมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะไขมันสะสมในตับ หรือโรค Hepatic Lipidosis ได้


แมวก็เหมือนกับมนุษย์เรา อ้วนมากไปก็ไม่ดีทำให้มีโรคอื่นอื่นๆ ตามมาได้ แต่อย่างไรก็ตามทาสแมวเราก็ยังอยากให้แมวอ้วนอยู่ดีใช่ไหมล่ะ ดังนั้นเราน่าจะพบกันครึ่งทางนะครับ ผมแนะนำว่าเราให้แมวเราอ้วนได้แต่ไม่ควรให้เป็นโรคอ้วนนะครับ คืออ้วนให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ กระโดดขึ้นลง เล่นของเล่นหรืออกกำลังกายได้โดยไม่เหนื่อยง่าย และที่สำคัญต้องหมั่นพาแมวไปตรวจสุขภาพสม่ำเสมอปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อเราจะได้มั่นใจว่าแมวเรานั้น…

 

อ้วนอย่างมีคุณภาพ

 


อ้างอิง: www.advantagepetcare.com.au

แชร์บทความนี้...

Vetbasket

คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *