“ปรสิตทาสแมว” ทำให้คนเรามีแนวคิดทางการเมืองขัดแย้งกัน

“ปรสิตทาสแมว” ทำให้คนเรามีแนวคิดทางการเมืองขัดแย้งกัน

BBC News ไทย / ภาพปก : GETTY IMAGES

เผยแพร่ : 10 ตุลาคม 2022

เชื้อปรสิตที่ประชากรถึง 1 ใน 3 ของโลกได้รับมาจากแมวเหมียว หรือเชื้อโปรโตซัว “ท็อกโซพลาสมา กอนดิไอ” (Toxoplasma gondii) นอกจากจะส่งผลทางจิต-ประสาท จนทำให้คนเรามีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในหลายด้านแล้ว ยังมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นทางการเมืองอีกด้วย

งานวิจัยทางจิตวิทยาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร  Evolutionary Psychology ระบุว่าทีมนักปรสิตวิทยาและนักชีววิทยาวิวัฒนาการของสาธารณรัฐเช็ก ค้นพบความแตกต่างของจุดยืนรวมทั้งแนวคิดทางการเมือง ซึ่งไม่ได้เกิดจากเพศ วัย หรือภูมิหลังของแต่ละคน แต่เป็นผลมาจากการที่มนุษย์ติดเชื้อปรสิตดังกล่าว

มีการสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองกับกลุ่มตัวอย่าง 2,315 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อปรสิตทาสแมวอยู่ 477 คน จากนั้นจึงทำการเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้ ระหว่างแนวคิดทางการเมืองของกลุ่มผู้ติดเชื้อกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อ โดยมีการใช้กลุ่มตัวอย่างควบคุมที่ทำให้แน่ใจได้ว่า ปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจากการติดเชื้อปรสิต จะไม่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการทดสอบครั้งนี้

ผลปรากฏว่าผู้ติดเชื้อปรสิตทาสแมวส่วนใหญ่ มีแนวโน้มฝักใฝ่แนวคิดทางการเมืองแบบชาตินิยม-เผ่าพันธุ์นิยม (tribalism) สูงกว่าผู้ที่ปลอดเชื้อชนิดนี้มาก แต่กลับได้คะแนนด้านความฝักใฝ่แนวคิดเสรีนิยม-พหุวัฒนธรรมต่ำกว่า ทั้งยังมีแนวโน้มจะต่อต้านระบอบเผด็จการน้อยกว่าด้วย

DAVID FERGUSON
ภาพขยายเชื้อปรสิต Toxoplasma gondii ซึ่งอยู่ภายในซีสต์ที่สมองของหนูทดลอง

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยพบความแตกต่างระหว่างผู้ติดเชื้อเพศหญิงและเพศชายอยู่บ้าง ในเรื่องที่ว่าผู้ติดเชื้อเพศชายมีท่าทีเป็นลบต่อแนวคิดเผ่าพันธุ์นิยมสูงกว่าผู้ติดเชื้อเพศหญิงเล็กน้อย ทั้งยังมีความคิดเห็นฝักใฝ่เสรีนิยมทางเศรษฐกิจมากกว่าผู้ติดเชื้อเพศหญิง โดยต้องการให้สังคมมีความเท่าเทียมและลดการแก่งแย่งแข่งขันลง

แต่โดยทั่วไปแล้ว ผู้ติดเชื้อปรสิตทาสแมวทั้งชายและหญิง ล้วนได้คะแนนต่ำกว่าผู้ที่ปลอดเชื้อในเรื่องของการยึดมั่นต่อความยุติธรรมและการเป็นคนใจกว้างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น

ทีมผู้วิจัยยังตรวจสอบพบว่า การมีแนวคิดทางการเมืองดังข้างต้น ไม่ได้เป็นผลมาจากสุขภาพร่างกายที่ย่ำแย่ลงเพราะการติดเชื้อปรสิต โดยจะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างที่ติดเชื้อทั้งชายและหญิง มีทิศทางการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพและมีพฤติกรรมปรับตัวเพื่อรับมือกับความเครียดคล้ายคลึงกัน ทั้งที่ตามปกติแล้วทั้งสองเพศจะมีความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไปในทิศทางตรงข้ามกัน

ศาสตราจารย์ ยาโรสลาฟ เฟล์เกอร์ ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยปรากของสาธารณรัฐเช็ก กล่าวสรุปว่า “การติดเชื้อปรสิตอาจทำให้เกิดการอักเสบอย่างอ่อน ๆ ในระยะยาว ซึ่งส่งผลเปลี่ยนแปลงความคิดจิตใจได้ อย่างไรก็ตาม การที่มีประชากรโลกติดเชื้อปรสิตนี้จำนวนมาก ทำให้ต้องตระหนักถึงอิทธิพลของมันต่อการเมืองและประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ รวมทั้งการเมืองในเวทีโลกด้วย”


ดูเรื่องต้นฉบับ

แชร์บทความนี้...

Vetbasket

คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *