โรคติดต่อจากเชื้อไวรัสที่สำคัญในสุนัข

โรคติดต่อจากเชื้อไวรัสที่สำคัญในสุนัข

โรคติดต่อจากเชื้อไวรัสนั้นสามารถติดต่อได้ง่ายและส่วนมากมักมีอาการรุนแรง เพราะไม่มียาฆ่าเชื้อที่จำเพาะเจาะจงในการรักษา จึงทำได้แค่รักษาตามอาการและให้ยาปฎิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย แต่โรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้โดยการทำวัคซีนให้กับสุนัข ถึงแม้จะป้องกันไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถลดความรุนแรงของอาการ และลดอัตรการเสียชีวิตลงได้มากเลยทีเดียว


โรคติดต่อจากเชื้อไวรัสที่สำคัญในสุนัข

โรคไข้หัดสุนัข Canin Distemper Virus (CDV)

โรคไข้หัดสุนัขเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง และพบได้ในสุนัขทุกช่วงอายุ แต่ลูกสุนัขอายุระหว่าง 6-12 สัปดาห์จะมีความเสี่ยงในการติดโรคและเสียชีวิตได้มากที่สุด แต่เชื้อนี้ก็สามารถถูกทำลายได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน แสงแดด อากาศแห้ง และน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในกลุ่มอีเทอร์ ฟีนอล คลอโรฟอร์ม และคลอไรด์

“รู้หรือไม่ : น้ำยาซักผ้าขาวพวกไฮเตอร์ก็สามารถใช้ฆ่าเชื้อได้นะ”

การติดต่อ: การติดต่อทางการหายใจถือว่าเป็นการติดต่อได้ง่ายที่สุด โดยไวรัสจะปนเปื้อนออกมากับสิ่งขับถ่ายทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งขี้มูก ขี้ตา และน้ำลาย

อาการ: สุนัขที่ป่วยจะพบอาการได้หลายระบบของร่างกาย ซึ่งสามารถแบ่งเป็นระดับความรุนแรงได้ดังนี้

  • ไม่รุนแรง – ซึม มีไข้ กินอาหารได้ลดลง และร่างกายขาดน้ำ
  • รุนแรง – มีขี้มูก ขี้ตา ไอ หายใจลำบาก ท้องเสีย และอาเจียน
  • รุนแรงมาก – ขี้มูกขี้ตาจะขุ่นข้น หายใจลำบาก ไอ ปอดบวม ท้องเสีย อาเจียนรุนแรง อาจพบตุ่มหนองบริเวณใต้ท้อง ผิวหนังที่ฝ่าเท้าหนาตัวขึ้น และพบอาจอาการทางประสาท เช่นกล้ามเนื้อกระตุก โดยเฉพาะบริเวณปาก กล้ามเนื้อขา ชักเป็นอัมพาต และตายในที่สุด

การรักษา: การรักษาทำได้โดยรักษาตามอาการเท่านั้น


โรคลำไส้อักเสบ Canine Parvovirus (CPV)

โรคนี้เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงเช่นกัน และมีอัตราการตายสูงในลูกสุนัข

การติดต่อ: ส่วนมากแล้วเกิดจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อที่ออกมากับอุจจาระ การเลียพื้นที่มีเชื้อ หรือเลียก้นสุนัขตัวที่เป็นโรค นอกจากนี้ตัวมนุษย์เองก็สามารถเป็นแหล่งแพร่เชื้อให้กับสุนัขได้โดยการที่ไปจับสุนัขตัวที่เป็นโรคแล้วมาให้สุนัขตัวอื่นเลียมือ

อาการ: ระยะแรกจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร ไข้สูง อาเจียน ท้องเสีย แรกๆ อาจจะมีสีเหลืองหรือสีส้ม แต่เมื่ออาการรุนแรงขึ้นจะถ่ายเป็นเลือดสดและมีกลิ่นคาวรุนแรง ร่วมกับมีอาการปวดเกร็งท้องด้วย ลูกสุนัขจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการขาดน้ำและแร่ธาตุอย่างรุนแรง รวมทั้งมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบร่วมด้วย

การรักษา: รักษาตามอาการ แก้ไขภาวะขาดน้ำ และลดอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น


โรคหวัดและหลอดลมอักเสบ (Kennel Cough)

รคหวัดและหลอดลมอักเสบ เป็นโรคทางเดินหายใจของสุนัขที่พบได้ทั่วโลก ซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายกลุ่มสุนัขที่ไวต่อการเป็นโรค ได้แก่ ลูกสุนัข สุนัขแก่ สุนัขที่แพ้อากาศง่าย และสุนัขที่เลี้ยงขังรวมกันหนาแน่น เช่นตามฟาร์มหรืองานประกวดสุนัข

การติดต่อ: จากการไอ และสัมผัสกับเชื้อโรคที่กระจายอยู่ในอากาศ

อาการ: สุนัขจะมีอาการไอเรื้อรังเป็นเวลานานหลายสัปดาห์จนถึงเดือน ซึม เบื่ออาหาร ส่วนมากแล้วจะไม่อันตรายถึงชีวิต ยกเว้นในกรณีที่ติดเชื้อรุนแรงมากจนลุกลามไปยังปอด และทำให้เกิดปอดบวม

การรักษา: รักษาตามอาการได้แก่ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ยาลดไข้ ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อแทรกซ้อน กรณีน้ำมูกข้นขื้น มีสีเหลืองหรือสีเขียว ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ต้องให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย


โรคตับอักเสบ

โรคตับอักเสบ สามารถพบได้ในสุนัขทุกช่วงอายุ แต่มักพบได้บ่อยและมีอาการรุนแรงในสุนัขที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี

“โรคตับอักเสบนี้ไม่เกี่ยวข้องกับโรคตับอักเสบของคนนะครับ”

การติดต่อ: โดยการกินและการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อไวรัสที่ขับออกมากับ น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ และปัสสาวะ หรือเชื้อที่ปนเปื้อนกับเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ เข็มฉีดยา แต่เชื้อนี้ไม่ติดต่อโดยการหายใจ

อาการ: ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน อุจจาระเหนียวสีโคลน กลิ่นเหม็นจัด หรือมีเลือดปน บวมน้ำใต้ผิวหนัง ท้องบวมโตเป็นท้องมาน โดยอาการจะรุนแรงมากในลูกสุนัข จะพบต่อมน้ำเหลืองโต กระจกตาขุ่น ปวดท้องอย่างรุนแรง และบางครั้งอาจพบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย

การรักษา: รักษาตามอาการ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสุขภาพของสุนัข


โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู

โรคฉี่หนูเป็นโรคที่เกิดได้ในสุนัขทุกช่วงอายุ และสามารถติดต่อไปถึงคนได้

การติดต่อ: โดยการสัมผัสกับปัสสาวะที่ติดเชื้อโดยตรง หรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนกับปัสสาวะที่ติดเชื้อ ทางบาดแผล เยื่อเมือกต่างๆ และทางระบบสืบพันธุ์ (มีหนูเป็นตัวนำโรค)

อาการ: ซึม มีไข้สูง อาเจียน ปัสสาวะมีเลือดปน มีภาวะขาดน้ำ ดีซ่าน ปวดท้อง ตับและไตวาย

การรักษา: ขึ้นอยู่กับความรุนแรง และความรวดเร็วในการตรวจวินิจฉัย


โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม รวมถึงในคนด้วย ซึ่งหากถึงระยะแสดงอาการของโรคแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ และทำให้เสียชีวิตในที่สุด โดยในประเทศไทยนั้น สุนัขเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญที่สุด

การติดต่อ: ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อจากน้ำลายเข้าสู่บาดแผลโดยการถูกสุนัขตัวอื่นกัด และได้รับเชื้อผ่านทางเยื่อเมือกต่างๆ เช่นตา จมูก ปาก และอวัยวะเพศ

อาการ: ค่อนข้างหลากหลายตั้งแต่ซึม ก้าวร้าว หรือตื่นกลัว สุนัขจะแสดงอาการเร็วแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของบาดแผลที่สัมผัสเชื้อ เพราะเชื้อพิษสุนัขบ้าต้องใช้เวลาเดินทางจากบาดแผลผ่านเส้นประสาทสู่สมอง ซึ่งในคนใช้เวลาตั้งแต่ 10 วันจนถึง 1 ปี ส่วนในสุนัขใช้เวลา 10 วัน จนถึง 2 เดือน

การรักษา: ไม่สามารถรักษาได้ถ้าสุนัขแสดงอาการของโรคแล้ว


“โรคติดต่อเหล่านี้ถึงแม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง แต่เราก็สามารถที่จะป้องกันได้โดยการ ฉีดวัคซีน ให้กับสุนัข เป็นประจำทุกปี อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอนะครับ “

ภาพ: 
Radio Candela
The Dog Digest
vetarena.org
Waggy Walkys
impfung-hund.de
Pet Health Network
Mission Rabies

 

 

แชร์บทความนี้...

Vetbasket

คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *