“โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ” โรคสุดอันตรายของเจ้าเหมียว

“โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ” โรคสุดอันตรายของเจ้าเหมียว

สำหรับคนรักแมวแล้วโรคนี้ถือเป็นโรคที่ใครก็คงไม่อยากให้เกิดกับแมวของตัวเอง เพราะนอกจากมันจะรักษาไม่หายและติดต่อได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังมีอัตราการตายที่สูงอีกด้วย ความน่ากลัวขอมันคือโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (corona virus) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันกับที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส (SARs) หรือ เมอร์ส (MERs) ในคน โดยไวรัสชนิดนี้มีความไวต่อการเกิดการกลายพันธุ์ได้ง่าย แมวที่ติดเชื้อจะก่อให้เกิดความผิดปกติของทางเดินอาหาร แต่่ถ้าไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ก็จะสามารถนำไปสู่การเกิดโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบได้

เยื่อบุช่องท้องอักเสบ
(feline infectious peritonitis; FIP)

โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับแมวทุกเพศทุกวัย แต่มักเป็นในแมวที่มีอายุน้อย ประมาณ 3 เดือน ถึง 3 ปี และมักเป็นแมวที่เพิ่งนำเข้ามาในฝูงใหม่ มีความเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับความเครียดของแมวหรือการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ของเชื้อในทางเดินอาหาร ทำให้เกิดเป็นเชื้อชนิดนี้ขึ้นมา

อาการของโรค
โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบนั้นจะแสดงอาการแตกต่างกันออกไปขึ้นกับระดับของภูมิคุ้มกันของแมวในแต่ละตัว หากแมวมีภูมิคุ้มกันที่ดีมาก ก็จะสามารถกำจัดเชื้อโรคออกไปได้อย่างเด็ดขาด และไม่แสดงอาการใดๆ อาจมีอาการท้องเสียเล็กน้อยได้ แต่ควรระวังการกลายพันธุ์ที่รุนแรงหรือเมื่อภูมิคุ้มกันตกในอนาคต หากภูมิคุ้มกันไม่ดี ก็อาจก่อให้เกิดอาการได้ 2 แบบ เราเรียกกันว่า แบบเปียก (wet หรือ effusive form) และแบบแห้ง (dry หรือ non-effusive form) ทั้ง 2 แบบนี้มีอาการแตกต่างกันออกไปดังนี้

อาการของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแบบเปียก

  • ท้องมาน ขยายใหญ่ เนื่องจากมีน้ำในช่องท้อง (peritoneal effusion)
  • หายใจลำบาก หายใจกระแทก เนื่องจากอาจมีน้ำในช่องอก (pleural effusion)
  • มีไข้ ขึ้นๆ ลงๆ
  • ซึม ไม่กินอาหาร อ่อนแรง
  • ท้องเสีย น้ำหนักลด

อาการของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแบบแห้ง

  • มีไข้ ขึ้นๆ ลงๆ
  • ซึม ไม่กินอาหาร
  • โลหิตจาง ถ่ายปัสสาวะใสและปริมาณมาก กินน้ำมาก เนื่องจากรอยโรคที่ไต
  • ดีซ่าน เนื่องจากการพบของรอยโรคในตับ
  • ตาแดงหรืออักเสบ
  • อาการทางระบบประสาท เช่น ชัก ตาบอด เดินโซเซหรือไม่สัมพันธ์ เนื่องจากรอยโรคในสมอง

การวินิจฉัย
โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบมีลักษณะการแสดงออกของโรคที่ค่อนข้างเด่นชัดในกรณีเกิดอาการแบบเปียก เนื่องจากลักษณะของอาการที่ค่อนข้างจำเพาะ แต่การพบน้ำในช่องอกหรือช่องท้องก็ไม่สามารถใช้ยืนยันว่าเป็นโรคดังกล่าวได้ ต้องทำการเจาะเอาน้ำไปตรวจเพื่อวินิจฉัยยืนยันต่อไป โดยในน้ำเองจะพบลักษณะของการอักเสบ คือ มีเม็ดเลือดขาวที่ยังคงปกติ หรือมีปริมาณของโปรตีนโดยเฉพาะกลุ่ม immunoglobulin สูงมากขึ้น นอกจากนี้น้ำยังสามารถนำไปตรวจหาเชื้อด้วยเทคนิคทางห้องปฏิบัติการได้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคที่ใช้สีฟลูออเรสเซนต์ หรือการตรวจจับโปรตีนที่แสดงออกถึงการปรากฏอยู่ของเชื้อ corona virus อย่างไรก็ตามเนื่องจากเชื้อนี้เกิดขึ้นมาจากการกลายพันธุ์ของไวรัสในทางเดินอาหาร จึงอาจตรวจเจอเชื้อได้เป็นปกติในรายที่ไม่แสดงอาการ

ในแง่ของอาการแบบแห้งนั้นจะมีความยากเป็นพิเศษ เนื่องจากแมวจะไม่ได้แสดงอาการแบบจำเพาะ อาการจะเป็นตามรอยโรคที่ปรากฏอยู่ ทำให้มีความยากในการวินิจฉัย ประกอบกับไม่มีน้ำหรือของเหลวอะไรที่สามารถนำไปตรวจได้ จะมีก็แต่การตรวจเลือดซึ่งหากพบว่าค่า immunoglobulin มีปริมาณสูงขึ้นก็อาจบ่งบอกถึงแนวโน้มการเกิดโรคดังกล่าวได้ แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป เพราะในบางครั้งก็อาจมีการลดลงได้เนื่องจากรอยโรคที่ตับเองจะทำลายความสามารถในการสร้างโปรตีนดังกล่าวเช่นกัน การตรวจหาเชื้อ โดยใช้เทคนิค PCR เองก็ยังให้ผลไม่ชัดเจนนัก เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ในภาวะปกติก็สามารถพบเชื้อนี้ได้ในทางเดินอาหารของแมว โดยที่ไม่ก่อให้เกิดโรคใดๆ หรือหากมีอาการทางระบบประสาทก็สามารถเก็บน้ำจากไขสันหลัง (cerebro-spinal fluid) เพื่อไปตรวจหาเชื้อได้ วิธีนี้จะให้ผลที่ค่อนข้างชัดเจนเช่นกัน หรือใช้เทคนิคทางอัลตร้าซาวด์หรือ CT scan เพื่อหารอยโรคที่ปรากฏในตับ ไต หรือในสมอง เป็นต้น โดยสรุปคือหากแมวไม่ได้มีอาการอย่างจำเพาะจริงๆ การตรวจหาเชื้อหรือการวินิจฉัยยืนยันอาจจำเป็นจะต้องใช้หลายๆเทคนิคของการวินิจฉัยเข้ามาช่วยยืนยัน

การรักษา
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องอักเสบนั้นไม่ทางรักษาให้หายขาดได้ สามารถทำได้เพียงให้ยาเพื่อช่วยลดอาการ เช่น หากเกิดอาการชัก ก็ให้ยาควบคุมอาการชัก ไม่กินอาหารก็ให้สารน้ำทดแทน ส่วนยาลดไข้อาจไม่จำเป็นเพราะมักจะมีอาการไข้ขึ้นๆลงๆอยู่แล้ว ให้ยาบำรุงตับหากพบอาการโรคที่ตับ หรือการให้ยาปฎิชีวนะหากพบว่ามีการติดเชื้อแทรกซ้อน ไม่ว่าจะในทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจหรือในกระแสเลือด และที่สำคัญในกรณีที่มีน้ำในช่องอกหรือช่องท้องในรายของอาการแบบเปียก จำเป็นที่จะต้องได้รับการเจาะเอาน้ำในช่องอกและช่องท้องออกเพื่อช่วยให้น้องแมวมีอาการที่ดีขึ้น หายใจได้สะดวกขึ้น แต่น้ำมักจะมาอีกเรื่อยๆเนื่องจากหลอดเลือดในช่องท้องหรือช่องอกนั้นเกิดการอักเสบจากภูมิคุ้มกันไปแล้ว สัตวแพทย์จะให้ยาเพื่อช่วยชะลอการกลับมาของน้ำโดยการให้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ แต่อาการของโรคนี้โดยเฉลี่ยแล้วแมวจะอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือนอยู่ดี

การดูแลและจัดการ
โรคนี้เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคในทางเดินอาหาร ซึ่งการกลายพันธุ์นี้มักจะเกิดจากการที่นำแมวเอามาในสถานที่เลี้ยงใหม่แล้วมีการถ่ายอุจจาระ เชื้อโรคจะพยายามปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทำให้มีการเกิดกลายพันธุ์ ประกอบกับแมวมีความเครียดทำให้เกิดการติดเข้าสู่ทางเดินหายใจหรือทางเดินอาหารกลับเข้าไป วิธีการจัดการคือควรหมั่นทำความสะอาดบริเวณห้องน้ำหรือทรายที่แมวถ่ายอย่างเป็นประจำโดยเฉพาะในแมวเด็ก และพยายามสังเกตอาการของแมวอย่างใกล้ชิดเพื่อตรวจจับโรคได้อย่างรวดเร็ว และแยกแมวติดเชื้อออกจากตัวอื่น ความโชคร้ายคือการทำวัคซีนนั้นสามารถนำเชื้อชนิดใหม่เข้าสู่ร่างกายแมวแล้วก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ได้เอง ทำให้การทำวัคซีนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่แนะนำให้ทำ


ที่มา: honestdocs

ภาพ: Semantic Scholar

แชร์บทความนี้...

Vetbasket

คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *