10 ขั้นตอน แก้ปัญหาแมวตีกัน

10 ขั้นตอน แก้ปัญหาแมวตีกัน

ปัญหาแมวตีกันนับว่าเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับเจ้าของแมวทุกคน เพราะไม่ว่าจะยังไงก็คงหลีกไม่พ้น บางทีเจ้าเหมียวเล่นกันอยู่ดีๆ กลับตีกันซะอย่างงั้น มีเสียงเงี๊ยวง๊าว ขนกระจุยให้ได้เห็นกันตลอด และเจ้าเหมียวก็มักจะไม่หยุดตีกันง่ายๆ ซะด้วย นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้แมวตีกันได้ เรามาดูกันว่ามีอะไรบ้าง และเราจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร

สิ่งที่เราควรทำเป็นอันดับแรกคือการหาว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้แมวก้าวร้าว และควรจะต้องหาด้วยว่าตัวไหนคือตัวที่ก้าวร้าวและตัวไหนคือตัวที่ถูกรังแก

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้แมวก้าวร้าวบ้าง?

  • การหวงอาณาเขต เมื่อแมวเริ่มโตขึ้นจนอายุ 1-2 ปี แมวอาจจะเริ่มตีกันเพื่อประกาศอาณาเขตภายในบ้าน และแสดงว่าตัวเองเหนือกว่า
  • การนำลูกแมวหรือแมวตัวใหม่เข้ามาในบ้าน
  • การเลี้ยงแมวมากเกินไป ทำให้พื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับแต่ละตัว
  • กลิ่นหรือรูปร่างของแมวเปลี่ยนไป เช่นการพาแมวไปหาสัตวแพทย์เพื่อผ่าตัด
  • มีแมวตัวอื่นมาเดินรอบๆ บ้าน ทำให้แมวในบ้านหงุดหงิดและหันมาตีแมวตัวอื่นในบ้านแทน

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าแมวตัวไหนถูกรังแก?

แมวที่อ่อนแอกว่าและถูกรังแกมักจะมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้

  • เดินเลี่ยงออกไปเวลาตัวอื่นเดินผ่านมา
  • ไม่ยอมเข้าห้องน้ำหรือเดินไปกินข้าวถ้ามีแมวตัวอื่นนอนขวางอยู่
  • รูปร่างผอมกว่าแมวตัวอื่น
  • ชอบซ่อนตัวหรืออยู่บนที่สูง
  • ขนยุ่งและร่วงหลุดจากการเลียตัวเองมากเกินไป

เมื่อเรารู้ถึงสาเหตุที่ทำให้แมวก้าวร้าวและตีแมวตัวอื่นที่ด้อยกว่าแล้ว ทีนี้เรามาดูกันว่าเรามีแนวทางที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

“10 ขั้นตอนแก้ปัญหาแมวตีกัน”

  1. ขั้นแรกให้แยกแมวออกจากกันก่อน โดยใช้ประตูเป็นตัวกั้นเพื่อให้แมวได้ปรับตัว ให้คุ้นกับกลิ่นและเสียงของแมวอีกตัวก่อน จนกระทั่งแมวไม่มีความกังวลหรือก้าวร้าว
  2. วางผ้าที่มีกลิ่นของแมวอีกตัวในห้อง เพื่อให้แมวคุันกลิ่น ใช้ผ้าถูบนหน้าและแก้มของแมวตัวที่ก้าวร้าวน้อยกว่าก่อน และเอาไปเช็ดหน้าของแมวตัวที่ก้าวร้าวมากกว่าในช่วงเวลาที่แมวอารมณ์ดี เช่นเวลาได้ขนมหรือกินข้าว จากนั้นค่อยน้ำผ้าผืนนั้นกลับไปเช็ดตัวแรกอีกที วิธีการนี้เป็นการให้แมว 2 ตัวคุ้นกลิ่นฟีโรโมนของกันละกัน ซึ่งกลิ่นฟีโรโมนนี้เป็นสิ่งที่แมวใช้ในการสื่อสารกัน
  3. หลังจากนั้น 2-3 วัน ให้แมวได้เจอกันผ่านกระจกหรือมุ้งลวด ถ้าแมวดมกันและไม่แสดงอาการก้าวร้าว แปลว่าเป็นไปได้ดี ให้ขนมแมวเป็นรางวัลในการเจอกันแต่ละครั้งเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีของแมว
  4. ให้เอาแมวแต่ละตัวใส่กรงแล้วไปไว้ในห้องเดียวกันในระยะ 1-2 เมตร ให้ขนมเป็นรางวัลถ้าแมวไม่แสดงอาการก้าวร้าว แล้วค่อยขยับกรงเข้าใกล้กันเรื่อยๆ และให้ขนมเป็นรางวัล
  5. ขั้นต่อไปให้ลองปล่อยแมวตัวหนึ่งก่อน แล้วโยนขนมไปใกล้ๆ กรงแมวอีกตัว ถ้าเป็นไปด้วยดีให้ลองสลับทำกับแมวอีกตัวเหมือนกัน ซึ่งขั้นตอนนี้อาจใช้เวลาหลายวัน
  6. ต่อมาให้ลองปล่อยแมวทั้งสองตัวออกมาพร้อมกัน โดยต้องใส่สายจูงไว้ทั้งสองตัวเพื่อความปลอดภัย ใช้ขนมเป็นตัวล่อให้แมวเดินเข้าใกล้กัน แต่ถ้าแมวไม่ยอมกินขนมให้เอาแมวออกห่างจากกันก่อนแล้งลองใหม่
  7. เมื่อแมวดูพร้อมสำหรับการปล่อยให้อยู่ด้วยกันแล้ว ให้ลองปล่อยไว้ด้วยกันโดยต้องใส่กระดิ่งให้กับแมวที่ก้าวร้าวกว่า เพื่อให้แมวอีกตัวรู้ว่าอีกตัวกำลังเข้ามาใกล้ ถ้าแมวยังแสดงอาการก้าวร้าวก็ต้องกลับไปเริ่มฝึกขั้นตอนแรกใหม่
  8. ถ้าแมวยังดูไม่สามารถเข้ากันได้ให้ลองใช้ฟีโรโมนสังเคราะห์เช่น Feliway เพื่อให้แมวหายเครียดและผ่อนคลายมากขึ้น
  9. กรณีที่มีแมวหลายๆ ตัวจำเป็นมากที่ต้องมีพื้นที่ให้แมวได้หลบหรือซ่อนได้ และต้องมีชามน้ำ อาหาร และกระบะทรายไว้หลายๆ ที่เพื่อป้องกันไม่ให้แมวทะเลาะกัน
  10. ถ้าแมวยังตีกันอย่างรุนแรงอยู่ ให้นำแมวทั้งสองตัวออกจากบ้านและทำกระบวนการแนะนำให้รู้จักกันใหม่ในพื้นที่ใหม่ๆ ที่แมวทั้งสองตัวไม่คุ้นเคย เช่นโรงแรมแมวหรือโรงพยาบาลสัตว์

ทั้ง 10 ขั้นตอนนี้อาจเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาแมวตีกันได้ แต่ทั้งหมดนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับความรักและความอดทนของเจ้าของที่มีกับแมวของเราด้วยนะครับ

“เป็นทาสเราต้องอดทนนะเมี๊ยววว” 


อ้างอิง: petsonthecouch

แชร์บทความนี้...

Vetbasket

คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *