3 สิ่งสำคัญที่ทำให้ลูกสัตว์แรกคลอดเสียชีวิต!
ส่วนมากแล้วลูกสัตว์แรกคลอดที่มีแม่เลี้ยงจะมีอัตราการรอดชีวิตมากกว่าลูกสัตว์กำพร้าที่ไม่มีแม่ เพราะการที่มีแม่คอยเลี้ยงดูตามธรรมชาตินั้น ย่อมดีกว่าการดูแลโดยมนุษย์อยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่แม่สัตว์ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกของตัวเองได้ เช่นแม่ท้องแรกที่ไม่ยอมเลี้ยงลูก แม่ทิ้งไป หรือแม้กระทั่งแม่เสียชีวิต มนุษย์เราก็ต้องรับบทเป็นแม่สัตว์เสียเอง แล้วเราจะเลี้ยงลูกสัตว์แรกคลอดเหล่านี้อย่างไรให้มีชีวิตรอดล่ะ?
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกสัตว์แรกคลอดเสียชีวิต
การที่จะเลี้ยงลูกสัตว์แรกคลอดให้มีชีวิตรอดนั้น เราจำเป็นที่จะต้องรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้ลูกสัตว์เสียชีวิตเสียก่อน ซึ่งสาเหตุสำคัญๆ มีอยู่ 3 ประการได้แก่
1. อุณหภูมิ
อุณหภูมินับว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากที่ทำให้ลูกสัตว์แรกคลอดเสียชีวิต เพราะตามธรรมชาติแล้วแม่สัตว์จะคอยนอนกกลูกของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทำให้ลูกได้รับความอบอุ่นอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าเมื่อใดที่ไม่มีแม่อยู่แล้วอุณหภูมิร่างกายของลูกสัตว์ก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้ลูกสัตว์เสียชีวิตในที่สุด สิ่งที่เราสามารถช่วยได้ก็คือ การทำให้ลูกสัตว์ได้รับความอบอุ่น โดยใช้ผ้าขนหนูหนาๆ มาปูรองให้กับลูกสัตว์ และใช้ไฟกกชนิดหลอดไส้สีเหลือง (ขนาด 40 วัตต์) ยกให้ห่างจากตัวลูกสัตว์ประมาณ 1 ฟุต ข้อสังเกตุคือ ถ้าลูกสัตว์คลานหนีออกไปนอนบริเวณที่ไม่มีไฟส่องแปลว่าเราส่องไฟใกล้เกินไป ทำให้ลูกสัตว์ร้อนจนคลานหนีออกไป
2. นม
นมนับเป็นอาหารที่จำเป็นสำหรับลูกสัตว์แรกคลอด ปกติแล้วเมื่อลูกสัตว์คลอดออกมาจะต้องได้รับจากแม่ทันทีภายใน 24 ชม. ซึ่งภายในนมแม่จะมีนมน้ำเหลืองซึ่งช่วยสร้างภูมคุ้มกันโรคต่างๆ ให้กับลูกสัตว์ แต่ในกรณีที่ไม่มีแม่ ลูกสัตว์ก็คงไม่ได้รับนมน้ำเหลือง แต่ถึงอย่างไรเราก็จำเป็นต้องป้อนนมให้กับลูกสัตว์เหมือนกัน นมที่ใช้นั้นต้องเป็นนมสำหรับลูกสัตว์แรกคลอดเท่านั้น จะไม่แนะนำให้ใช้นมแพะกระป๋องที่เป็นน้ำ หรือโดยเฉพาะนมวัวห้ามใช้เด็ดขาด เพราะจะทำให้ลูกสัตว์เสียชีวิตจากภาวะท้องอืดและท้องเสีย
การป้อนนมนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เราควรป้อนนมให้น้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เพราะการป้อนนมครั้งละมากๆ ทีเดียวจะทำให้ลูกสัตว์ท้องอืดได้ โดยทั่วไปแล้วคือให้ป้อนนมทุก 2 ชม. ส่วนปริมาณนั้นให้ลองสังเกตุลูกสัตว์ดู ถ้าลูกสัตว์อิ่มแล้วจะถีบตัวและคายจุกนมออก จะหยุดร้องและนอนหลับไป แต่ถ้าไม่อิ่มหรือยังหิวอยู่ลูกสัตว์ก็จะร้องต่อ ทุกครั้งที่ป้อนนมเราก็จดปริมาณไว้ว่าแต่ละครั้งที่ดูดนมจนหยุดร้องคือเท่าไหร่ พอครั้งต่อไปก็ชงให้พอดี จะได้ไม่เหลือทิ้ง ซึ่งเราไม่ควรเก็บนมที่ป้อนเหลือแต่ละครั้งไว้เพราะอาจทำให้ลูกสัตว์ท้องเสียได้
3. อาการท้องอืดและท้องเสีย
อาการทั้งสองนี้มักเกิดจากนมที่เราป้อน ไม่ว่าจะเป็นใช้นมผิดประเภท ใช้นมที่ชงเหลือเก็บไว้แล้วเอามาป้อนในครั้งต่อไป หรือการป้อนนมมากเกินไป
เมื่อเกิดท้องอืดขึ้น ลูกสัตว์จะมีอาการปวดท้องจึงร้องโวยวายตลอดเวลา น้ำลายไหลยืด ท้องป่องมากปิดปกติ และไม่ยอมกินนม เรามักจะคิดว่าลูกสัตว์ร้องเพราะหิวนมแต่ทำไม่ไม่ยอมกินนมที่เราป้อน ลองสังเกตุดูครับ ถ้ามีอาการเหล่านี้ร่วมด้วยแสดงว่าลูกสัตว์เกิดอาการท้องอืดแล้ว
ส่วนอาการท้องเสียนั้นเราคงสังเกตุไม่ยากเท่าไหร่ เพราะลูกสัตว์จะอึเหลวให้เห็นกันเลย ซึ่งจะต้องแยกระหว่างอึเหลวกับอึนิ่มนะครับ เพราะอึปกติของลูกสัตว์มักจะนิ่มๆ คล้ายเนื้อของยาสีฟัน แต่ถ่ายออกมาเป็นน้ำแล้วล่ะก็แสดงว่าอึเหลวแล้ว ถ้าอาการท้องเสียรุนแรง ลูกสัตว์จะซึมลงไม่ค่อยขยับตัว ไม่ยอมกินนม และผอมลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อในลำไส้ แต่ในบางกรณีที่อาการไม่รุนแรง ลูกสัตว์ก็อาจจะมีอาการปกติ คลานไปมา และยังกินนมได้อยู่
การเลี้ยงลูกสัตว์แรกคลอดให้รอดชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องยากนะครับถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของเค้า หลักการก็คือ พยายามเลียนแบบการเลี้ยงของแม่ให้มากที่สุด เพราะคงไม่มีใครดูแลเราได้ดีเท่ากับแม่ของเราอีกแล้วใช่ไหมครับ -Dr.K-
เจ้าตัวดำนี้ชื่อโวยวายครับ เลี้ยงมาตั้งแต่เกิดเลย จนปัจจุบันนี้ก็อย่างที่เห็น นิสัยดีมากกกก ^^