ไขคำตอบทำไมน้องหมาเป็นมิตรกับมนุษย์-BBCไทย
นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ระบุว่า สุนัขมีลักษณะนิสัยเป็นมิตรโดยธรรมชาติ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกมันกลายเป็นเพื่อนที่ดีของมนุษย์ได้
สุนัขเลี้ยงที่เราพบเห็นกันทุกวันนี้ มีวิวัฒนาการมาจากสุนัขป่าเมื่อประมาณหลายหมื่นปีก่อน ซึ่งผลการวิจัย ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ไซแอนซ์ แอดวานซ์ ชี้ว่า ในช่วงเวลานั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรมที่ทำให้ยีนส่วนสัญชาตญาณการอยู่เป็นฝูงและการเข้าสังคมของสุนัขเด่นขึ้น ซึ่งอาจเป็นเหตุผลทำให้สุนัขมีบุคลิกที่โด่ดเด่น รวมทั้งมีความต้องการที่จะเป็นเพื่อนกับมนุษย์
ดร.บริดเจ็ตต์ ฟอน โฮล์ต จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ระบุว่า การค้นพบความแตกต่างทางพันธุกรรมในสุนัขที่เลี้ยงตามบ้านและสุนัขป่า ทำให้มีความเป็นไปได้ที่เราอาจศึกษาข้อมูลเชิงลึกในบุคลิกของสุนัข และอาจนำไปสู่ข้อสังเกตที่คล้ายกันในสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น เช่น แมว เป็นต้น
ในงานวิจัยนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาพฤติกรรมของสุนัขเลี้ยงและสุนัขป่าที่ถูกนำมาเลี้ยง โดยได้ทดสอบทักษะต่างๆ ในการแก้ปัญหาและการเข้าสังคม
ผลการทดลองชี้ว่า สุนัขป่ามีทักษะการแก้ปัญหาดีพอๆ กับสุนัขเลี้ยง เช่น สามารถคาบไส้กรอกออกจากกล่องพลาสติกได้ แต่สุนัขเลี้ยงมีนิสัยเป็นมิตรมากกว่า โดยจะใช้เวลาทักทายและจ้องมองมนุษย์ที่ไม่รู้จักนานกว่า ในขณะที่สุนัขป่าจะอยู่ห่างๆ
นอกจากนี้ ผลทดสอบดีเอ็นเอยังพบความเชื่อมโยงในการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมและพฤติกรรมของสุนัข เช่น ความสนใจในคนแปลกหน้า หรือการสังเกตสัญญาณการเข้าสังคม ซึ่งการค้นพบนี้ คล้ายคลึงกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในมนุษย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการทางพันธุกรรมในกลุ่มคนที่มีนิสัยชอบเข้าสังคม
ด้าน ดร.อิเลน โอสแตรนเดอร์ จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมที่เขียนรายงานดังกล่าว ระบุว่า ข้อมูลการค้นพบนี้ อาจเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาโรคในมนุษย์ด้วย
ระหว่าง 20,000-40,000 ปีก่อนสุนัขป่าถูกนำมาเลี้ยง หลังจากที่บางตัวมีพฤติกรรมเข้ากับมนุษย์ยุคโบราณที่เป็นนักล่าได้ โดยพวกมันได้แอบเข้าไปในค่ายพักแรมเพื่อขอเศษอาหาร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีการเลี้ยงสุนัขป่าให้เชื่อง จนกลายมาเป็นสุนัขเลี้ยงอย่างทุกวันนี้ที่มีหลากหลายสายพันธุ์
การค้นพบการเปลี่ยงแปลงทางพันธุกรรม ซึ่งเกี่ยวโยงกับความเป็นมิตรในสุนัข อาจช่วยให้แสดงให้นักวิทยาศาสตร์เห็นว่า นิสัยนี้มีพัฒนาการมาอย่างไร
“อาจจะนำมาอธิบายอย่างง่ายดายว่า สุนัขป่าเหล่านี้ ขยายพันธุ์ลูกหลานที่เป็นมิตรกว่าได้อย่างไร ซึ่งช่วยปูทางให้มนุษย์สามารถเลี้ยงสุนัขได้เช่นทุกวันนี้” ดร.โอสแตรนเดอร์ กล่าว