แมวพันธุ์เบงกอล (Bengal House Cat)
เบงกอลโดดเด่นจากแมวตัวอื่นตรงที่มันมีขนที่สวยงาม แน่น และนุ่มอย่างแปลกประหลาด จุดที่เหมือนกับเสือดาวบนลำตัวสามารถเรียงกันแบบไม่มีแบบแผน ซึ่งอาจเรียงกันเป็นแนวนอนโดยเป็นทรงกุหลาบที่มีลักษณะเป็นครึ่งวงกลมหรือเป็นลายหินอ่อน ส่วนสีที่เป็นที่ชื่นชอบนั้นก็คือ จุดสีดำหรือสีน้ำตาล และลายหินอ่อนสีดำหรือสีน้ำตาล แต่ก็มีผู้เพาะพันธุ์ดัดแปลงสายพันธุ์จนได้แมวที่มีจุดสีขาวและลายหินอ่อนเหมือนหิมะ ซึ่งจุดบนตัวควรตัดกับสีพื้นหลังอย่างชัดเจน
เบงกอลเป็นแมวที่มีลำตัวขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมีลำตัวที่ยาวและเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ มีศีรษะ ปาก และจมูกที่กว้าง มีกรามสูง และหนวดที่เด่นชัด นอกจากนี้มันยังมีดวงตาที่กลมโต มีรอยแต้มสีดำรอบๆ ดวงตา มีใบหูที่เล็กและโค้งมนตรงปลาย ขาหลังของแมวพันธุ์นี้ยาวกว่าขาหน้าเล็กน้อย ทำให้ส่วนหลังสูงกว่าหัวไหล่เล็กน้อย ร่างกายที่ล่ำสันและแข็งแรงก็เป็นหนึ่งในลักษณะเด่นของแมวสายพันธุ์นี้
นิสัยและอารมณ์
ด้วยความที่เบงกอลเป็นแมวสายพันธุ์ที่ดุร้าย ทำให้คนมักสันนิษฐานว่ามันเป็นแมวที่รับมือด้วยยาก แต่ความจริงแล้วมันอาจเป็นตรงกันข้าม ซึ่งมีผู้เพาะพันธุ์แมวยืนยันว่าเราสามารถทำให้แมวพันธุ์นี้เชื่องได้อย่างง่ายดาย และมันเป็นแมวที่มีนิสัยชอบแสดงความรักแม้ว่ามันไม่ใช่แมวที่ชอบขึ้นมานอนบนตักของเจ้าของก็ตาม อย่างไรก็ดี แมวพันธุ์นี้ชอบอยู่กับมนุษย์ และมักอยู่ใกล้ชิดกับสมาชิกในครอบครัว รวมถึงเพลิดเพลินกับการอยู่กับเด็กมากเป็นพิเศษ เพราะด้วยธรรมชาติของเบงกอลที่ทำให้มันชอบการเล่นเกมมาก
หนึ่งในคุณสมบัติที่เบงกอลได้จากบรรพบุรุษที่อยู่ในป่าก็คือ สัญชาตญาณของความเป็นนักล่า ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่สัตว์ตัวเล็กๆ บนบกเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงสิ่งมีชีวิตในน้ำอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เสือดาวมีความสามารถในการจับปลาเมื่ออยู่ในป่า และเบงกอลก็อาจนำลักษณะพิเศษที่ว่านี้ติดตัวมาด้วยแต่อยู่ในรูปแบบที่เป็นเชิงสนุกสนานมากขึ้นอย่างการว่ายน้ำข้างๆ เจ้าของ การอาบน้ำหรือแช่น้ำ หรือการเล่นในอ่างล้างจาน
การดูแล
เนื่องจากเบงกอลเป็นแมวที่มีพลังงานมาก มันจึงต้องมีเวลาเล่นมากเป็นพิเศษ แต่ให้คุณจำไว้ว่าแมวที่มีพลังงานล้นเหลือจะชอบกระโดดไปยังตำแหน่งที่สูง ดังนั้นคุณควรนำสิ่งของที่แตกหักได้ออกจากบริเวณที่มีแนวโน้มว่าแมวจะกระโดดขึ้นไป โดยเฉพาะชั้นวางของที่สูงที่สุด
ความเป็นมาและภูมิหลัง
เบงกอลเป็นแมวพันธุ์เดียวที่เป็นผลสำเร็จจากการผสมพันธุ์ระหว่างแมวป่าและแมวบ้าน ซึ่งมีการพบหลักฐานว่าการผสมพันธุ์ที่ว่าเกิดก่อนคริสต์ทศวรรษ 1960 แต่จุดกำเนิดที่แท้จริงของแมวพันธุ์เบงกอลนั้นเริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อคริสต์ทศวรรษ 1970 ซึ่งผู้เพาะพันธุ์ส่วนมากไม่เห็นด้วยในการทำเช่นนี้ และ Cat Fanciers Association ก็ไม่ยอมรับแมวเบงกอลเพราะมันมีเชื้อสายของสัตว์ป่า แต่สุดท้ายแล้วแมวพันธุ์นี้ก็ได้รับการยอมรับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 ซึ่งหมายความรวมถึง International Cat Association ซึ่งกว่าที่จะเป็นแมวเบงกอลอย่างที่เห็นทุกวันนี้ แมวต้องถูกปรับสายพันธุ์เอาความดุร้ายของแมวป่าออกไปมากถึง 4 รุ่น จนสุดท้ายก็ได้แมวที่ขี้เล่น ชอบแสดงความรัก มีความสุภาพ และสามารถนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงและสามารถนำไปประกวดได้
ที่มา: honestdocs