นี่มันเอเลี่ยนชัดๆ…”แมว”กับพฤติกรรมการทำลายล้าง!
ปกติแล้วเหล่าทาสแมวทั้งหลายก็คงเคยชินกับการกัด ข่วนหรือการเหลาเล็บกับสิ่งของต่างๆ ของเจ้าเหมียวกันอยู่แล้ว ซึ่งก็ถือเป็นพฤติกรรมที่ปกติของแมวไม่ได้น่ากังวลอะไรนัก เพราะแมวก็คงต้องการการบริหารเล็บของตัวเอง หรือออกกำลังกายบ้างเป็นครั้งคราว
แต่เมื่อไหร่ที่เจ้าเหมียวเหล่านี้ข่วนหรือกัดสิ่งของต่างๆ อย่างบ้าคลั่งไม่สนใจโดยอะไรทั้งสิ้น โดยเฉพาะสิ่งของที่มันไม่ควรจะไปกัดข่วนนั้น เป็นเรื่องที่ผิดปกติ และจะต้องถูกวินิจฉัยว่ามีนิสัยด้านการทำลายล้างที่เป็นปัญหา แต่พฤติกรรมที่เป็นปัญหาเหล่านี้นั้นก็ไม่เหมือนกันทั้งหมด ดังนั้นจึงมีการแบ่งพฤติกรรมการทำลายล้างออกเป็น 2 ขั้น
ระดับขั้นของพฤติกรรมการทำลายล้างในแมว
ในขั้นแรกแมวจะข่วนกัดหรือเหลาเล็บกับสิ่งของที่ไม่สมควรแต่จะไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย ส่วนขั้นที่สองนั้นแมวจะใช้เวลาส่วนมากในแต่ละวันทำลายล้างสิ่งของ และมักมีอาการอื่นๆ ร่วมเข้ามาด้วย แต่อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นขั้นไหนก็สามารถนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของแมวตามมาได้ เช่นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
พฤติกรรมการทำลายล้างขั้นแรก
- เหลาเล็บกับเฟอร์นิเจอร์หรือพรม
- เคี้ยวหรือกินต้นไม้
- เมื่อแมวเริ่มทำสิ่งเหล่านี้เจ้าของอาจจะอยู่หรือไม่อยู่ด้วยก็ได้
พฤติกรรมการทำลายล้างขั้นที่สอง
- แมวจะทำเพื่อเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของ
- เจ้าของมักจะเห็นสิ่งของที่แมวทำลาย (อยากให้เจ้าของเห็น)
- แมวจะเสพติดการทำลายสิ่งต่างๆ
- แมวเลีย/แต่งตัวเป็นเวลานานผิดปกติ
- มักจะกินสิ่งที่ไม่ใช่อาหารอยู่บ่อยๆ
- เจ้าของอาจจะอยู่หรือไม่อยู่ตอนที่แมวทำพฤติกรรมเหล่านี้
สาเหตุของพฤติกรรมการทำลายล้างในแมว
- เจ้าของไม่มีเวลาดูแลหรือเล่นด้วย
- การไม่มีที่สำหรับให้แมวข่วนหรือเหลาเล็บที่เพียงพอ
- แมวไม่ค่อยได้ออกกำลังกายเนื่องจากไม่มีกิจกรรมทำมากนัก
เมื่อเห็นแมวมีอาการเหล่านี้แล้วเราควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของพฤติกรรมที่ผิดปกติ เพราะบางทีการแสดงออกเหล่านี้อาจจะมาจากอาการเจ็บป่วยของเจ้าเหมียวก็เป็นได้ แต่ถ้าไม่พบอาการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติของร่างกายของเจ้าเหมียว สัตวแพทย์ก็จะวินิจฉัยว่าเป็นความผิดปกติด้านพฤติกรรมโดยตรง
สำหรับขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยนั้น สัตวแพทย์จะทำการซักประวัติอย่างละเอียดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เช่นเคยได้รับการักษามาก่อนไหม มีพฤติกรรมเหล่านี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ นานแค่ไหนแล้ว มีเหตุการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมเหล่านี้หรือไม่ และอาการเหล่านี้เลวร้ายลงกว่าเดิมไหมจากครั้งแรกที่เริ่มแสดงพฤติกรรม สัตวแพทย์จะทำการตรวจร่างกายและตรวจเลือดหรือปัสสาวะเพื่อหาสัญญาณของการเจ็บป่วย ซึ่งอาจจะนำไปสู่พฤติกรรมที่ผิดปกติดังกล่าว อาจมีการตรวจหาระดับของไทรอยด์ฮอร์โมน เนื่องจากบางครั้งระดับของไทรอยด์ฮอร์โมนที่ไม่สมดุลก็อาจนำให้เกิดพฤติกรรมเหล่านี้ได้ ถ้าแมวมีการกินสิ่งที่ไม่ใช่อาหารอยู่บ่อยครั้ง สัตวแพทย์จะทำการตรวจดูว่าระบบย่อยและดูดซึมอาหารทำงานได้สมบูรณ์หรือไม่ สามารถดูดซึมสารอาหารที่ย่อยแล้วไปใช้ได้ไหม นอกจากนี้ในแมวที่อายุมากสัตวแพทย์อาจจะทำการตรวจหาเนื้องอกในสมองที่อาจก่อให้เกิดการแสดงออกของพฤติกรรมดังกล่าวได้เช่นกัน
การรักษาและการจัดการ
ถ้าหากตรวจพบปัญหาด้านสุขภาพ สัตวแพทย์จะทำการรักษาอาการป่วยก่อน เพราะส่วนมากแล้วถ้าอาการป่วยดีขึ้นปัญหาด้านพฤติกรรมก็จะดีขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าสำหรับแมวที่ไม่มีปัญหาด้านสุขภาพนั้น สัตวแพทย์ก็จะทำการักษาด้านพฤติกรรมโดยตรงเลย ซึ่งโดยส่วนมากมักใช้การฝึกฝนคู่กับการรักษาทางยา
- สำหรับพฤติกรรมการทำลายล้างขั้นแรก จะใช้การฝึกสอนให้แมวรู้ว่าอันไหนข่วนได้อันไหนข่วนไม่ได้ และต้องสอนให้ไปลับเล็บหรือข่วนกับสิ่งของที่จัดเตรียมไว้ให้เท่านั้น ห้ามทำกับสิ่งอื่น โดยอาจให้ผ้าหรือพลาสติกคลุมเฟอร์นิเจอร์ไว้เพื่อป้องกันไม่ให้แมวข่วนร่วมด้วย
- สำหรับพฤติกรรมการทำลายล้างขั้นที่สอง การรักษาจะทำร่วมกันระหว่างการรักษาทางยากับการฝึกสอน โดยทั้งเจ้าของและสัตวแพทย์ต้องวางแผนการฝึกด้วยกัน หมออาจจะสั่งจ่ายยาที่ช่วยให้แมวคลายเครียดเพื่อให้แมวตอบสนองต่อการฝึกได้ดียิ่งขึ้นด้วย และเมื่อแมวเรียนรู้ที่จะไม่ทำลายสิ่งของแล้วสัตวแพทย์อาจจะลองให้หยุดยา แต่แมวบางตัวก็อาจจำเป็นต้องได้รับยาไปตลอดโปรแกรมการรักษา
สิ่งที่สำคัญที่สุดในระหว่างการฝึกให้แมวปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคือ เจ้าของแมวต้องมีความอดทนกับแมว เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป บางทีอาจจะใช้เวลานานหลายเดือน โดยเฉพาะแมวที่มีความกังวลและไม่อยากเรียนรู้พฤติกรรมใหม่ๆ ทำให้ต้องใช้เวลานานมากขึ้นไปอีก
ถ้าเป็นไปได้เราก็คงไม่อยากให้แมวมีพฤติกรรมทำลายข้าวของตั้งแต่แรก ดังนั้นเราจึงควรเริ่มการฝึกฝนตั้งแต่แมวยังเด็ก ให้รู้ว่าสิ่งไหนเหลาเล็บได้หรือไม่ได้ และในช่วงระหว่างที่แมวกำลังโต เจ้าของอาจใช้พลาสติกคลุมเฟอร์นิเจอร์หรือพรมไว้เพื่อป้องกันแมวข่วน ที่สำคัญที่สุดคือต้องคอยดูแลแมวอย่างใกล้ชิด หากมีการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมไปในทางที่ไม่ดี ควรรีบทำการรักษาเพื่อแก้ไขทันที เพราะการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกนั้น จะทำให้ประสบความสำเร็จมากกว่าและป้องกันการเกิดพฤติกรรมการทำลายล้างแบบถาวรได้
เห็นไหมครับว่าพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของแมวเหล่านี้นั้นมีที่มาที่ไปและอาจมีสาเหตุมาจากสิ่งที่เราคาดไม่ถึงได้ ดังนั้นเมื่อเราพอจะทราบถึงสาเหตุและวิธีการแก้ไขแล้ว ทาสแมวทั้งหลายก็สามารถที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของแมวเราให้ดีขึ้นได้ เพื่อความสงบสุขของ “มวลมนุษยชาติทาสแมว” อย่างเราๆ นะครับ…
อ้างอิง: https://www.petmd.com/cat/conditions/behavioral