เจ้าของสุนัขต้องรู้…”พฤติกรรมการทำลายข้าวของในสุนัข” สาเหตุและวิธีแก้ไข
ในบทความที่แล้วเราได้พูดถึงพฤติกรรมการทำลายข้าวของในแมวไปแล้ว ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงพฤติกรรมในสุนัขกันบ้าง
พฤติกรรมที่สุนัขชอบกัดแทะทำลายข้าวของภายในบ้าน ถือเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของเค้า แต่ถ้าน้องหมาเกิดไปกัดสิ่งของที่ไม่สมควรกัดขึ้นมาเช่น เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า ประตูหรือพรม แล้วละก็สุนัขตัวนั้นก็จะถูกจัดว่ามีพฤติกรรมการทำลายล้างขึ้นมาทันที หากเราอยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว เราควรทำความเข้าใจ และหาสาเหตุของที่มาของพฤติกรรมเหล่านั้น
ระดับขั้นและอาการของพฤติกรรมการทำลายข้าวของในสุนัข
เมื่อสุนัขกัดสิ่งของต่างๆ ที่ไม่สมควรแต่จะไม่มีอาการอื่นร่วมด้วยมันจะถูกจัดว่าเป็นพฤติกรรมการทำลายขั้นต้น แต่ถ้ามันมีอาการอื่นๆ แทรกเข้ามาระหว่างแสดงพฤติกรรม เช่นอาการวิติกกังวล กลัว หรือก้าวร้าว มันก็จะถูกจัดเป็นพฤติกรรมการทำลายขั้นที่สอง แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นขั้นไหนพฤติกรรมเหล่านี้ ก็สามารถนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของสุนัขตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับ ฟัน ผิวหนัง ระบบย่อยอาหาร และลำไส้
พฤติกรรมการทำลายขั้นแรก
- กัดเคี้ยวสิ่งเล็กๆ ที่ตกอยู่ในบ้าน
- กัดแทะขาและขอบเฟอร์นิเจอร์
- เคี้ยวหรือกินต้นไม้ภายในบ้าน
- ขุดดิน ขุดหลุมภายในสนาม
- แสดงพฤติกรรมเมื่อเจ้าของอยู่หรือไม่อยู่บ้านก็ได้
พฤติกรรมการทำลายขั้นที่สอง
- สุนัขจะทำเพื่อเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของ
- เจ้าของมักจะอยู่ด้วยเวลาที่สุนัขทำลาย (อยากให้เจ้าของเห็น)
พฤติกรรมเสพติดการทำลายข้าวของ
- สุนัขจะกัดแทะสิ่งของต่างๆ เป็นเวลานานผิดปกติ
- สุนัขจะใช้เวลาส่วนมากไปกับการเลียหรือกัดแทะเท้าของตัวเอง
- กินสิ่งที่ไม่ใช้อาหารอยู่เป็นประจำ
- เจ้าของอาจจะอยู่หรือไม่อยู่ด้วยขณะที่สุนัขทำพฤติกรรมเหล่านี้
พฤติกรรมการกัดแทะสิ่งของเป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในสุนัขที่อายุน้อย ๆ อย่างไรก็ตามพฤติกรรมดังกล่าวอาจไม่ใช่นิสัยที่แท้จริงของสุนัข แต่อาจเป็นพฤติกรรมที่ที่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นเราจึงควรหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อจัดการกับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เหล่านี้
สาเหตุของพฤติกรรมการทำลายข้าวของในสุนัข
1.ความวิตกกังวลจากการถูกทิ้งให้อยู่ตัวเดียว
ในสุนัขที่มีความวิตกกังวลจากการถูกทิ้งให้อยู่ตัวเดียว มักจะแสดงพฤติกรรมที่สะท้อนถึงการผูกติดกับเจ้าของตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น การที่สุนัขเดินตามติดเจ้าของจากห้องไปอีกห้อง หรือมีปฏิกิริยาที่รุนแรงเมื่อสุนัขเห็นคุณเตรียมตัวที่จะอออกจากบ้าน เช่น คลุ้มคลั่ง หรือวิตกกังวลอย่างชัดเจน โดยปัจจัยที่อาจส่งผลให้สุนัขมีพฤติกรรมดังกล่าวได้แก่
- การย้ายบ้าน
- สูญเสียคนในครอบครัว หรือสัตว์ที่เลี้ยงภายในบ้าน
- การที่สุนัขถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังเป็นประจำ
ปัญหาการทำลายข้าวของจากพฤติกรรมดังกล่าวไม่ได้มีสาเหตุมาจากความแค้น แต่เป็นความกังวลที่จะอยู่เพียงลำพัง เพราะฉะนั้นการลงโทษสุนัขจะทำให้ปัญหาเลวร้ายลง
แนวทางแก้ไข
- ควรให้เวลากับสุนัขมากขึ้น ด้วยการเล่นกับสุนัข หรือพาออกไปเดินเล่นเพื่อให้สุนัขรู้สึกผ่อนคลายและลดความกังวลว่าจะถูกทิ้งให้อยู่ตัวเดียว
- ฝึกให้สุนัขรอและรู้จักฟังคำสั่งให้รอ โดยช่วงแรกอาจจะใช้เวลาไม่นานและค่อยๆ เพิ่มเวลาการรอให้นานขึ้น เวลาเจ้าของกลับมาหาสุนัขต้องชมและให้รางวัลทุกครั้งเพื่อให้สุนัขรู้สึกดีและรู้ว่าเจ้าของจะกลับมาแน่นอน
2.สุนัขเบื่อเนื่องจากเลี้ยงแยกอยู่ตัวเดียวเป็นเวลานาน
พฤติกรรมการขุด การกัด การแทะ ถือเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของสุนัข แต่ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำลายข้าวของของสุนัขได้ เพราะเมื่อสุนัขสำรวจวัตถุต่างๆ ก็มักจะใช้เท้าเขี่ย และใช้ปากกัดแทะเพื่อการสำรวจ ซึ่งอาจสาเหตุให้สุนัขทำลายข้าวของต่างๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ หรืออาจจะเป็นไปได้ที่สุนัขอาจจะกัดแทะสิ่งของเพื่อความสนุกสนาน สาเหตุที่นำไปสู่พฤติกรรมการกัดแทะของสุนัขได้อย่างเช่น
- การถูกทิ้งให้อยู่ตัวเดียวเป็นเวลานานโดยปราศจากการมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของ
- การถูกเลี้ยงในพื้นที่ที่ไม่มีเพื่อนเล่น หรือของเล่น
- สุนัขไม่ได้ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะพันธุ์ที่ต้องการใช้พลังงาน
- ลูกสุนัขอายุต่ำกว่า 3 ปี ที่ต้องการการวิ่งเล่นซุกซน
แนวทางการแก้ไข
- เล่นกับสุนัขให้บ่อยมากขึ้น
- พาสุนัขออกไปเดินเล่นเป็นประจำโดยฝึกให้เดินโดยใช้สายจูง และให้เวลาสุนัขดมสำรวจสิ่งต่างๆ
- สอนสุนัขว่าสิ่งไหนเล่นได้ สิ่งไหนเล่นไม่ได้ ชมและให้รางวัลสุนัขทุกครั้งที่ทำถูกต้อง
- ฝึกให้สุนัขอยู่ในคำสั่ง และเชื่อฟังคำสั่งเป็นประจำ
- คอยเปลี่ยนของเล่นใหม่ๆ ให้กับสุนัขอยู่เสมอ เพื่อดึงดูดความสนใจ และสังเกตพฤติกรรมของสุนัขด้วยว่า สุนัขกัด แทะ ฉีก แล้วเผลอกินเข้าไปหรือไม่
- ในสุนัขที่ชอบเคี้ยวหรือกัดแทะ ให้พิจารณาเลือกของเล่นสำหรับการกัดแทะโดยเฉพาะ หรือใช้ของเล่นที่สามารถยัดไส้อาหารได้ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจไม่ให้สุนัขกัดแทะสิ่งของที่ไม่สมควร
- อาจนำวัสดุจำพวก อลูมิเนียมฟอยล์, พลาสติกอย่างหนา, หรือซอสพริก มาทาหรือห่อหุ้มของที่ไม่ต้องการให้สุนัขกัดแทะ
3.การเรียกร้องความสนใจ
ปกติเรามักจะให้ความสนใจเวลาสุนัขแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งการทำเช่นนี้อาจทำให้สุนัขคิดว่าพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจะช่วยให้เจ้าของสนใจได้ ถึงแม้จะเป็นความสนใจในทางลบ เช่น การดุหรือการต่อว่าก็ตาม
แนวทางการแก้ไข
- ให้การดูแลเอาใจใส่แก่สุนัขเป็นประจำทุกวัน โดยการเล่น พาออกไปเดิน อาบน้ำ หรือการลูบคลำก็ล้วนแสดงถึงความใส่ใจทั้งสิ้น
- ไม่ควรให้ความสนใจเวลาสุนัขแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยพยายามนิ่งเฉยให้มากที่สุด และให้รางวัล ลูบหัว และพูดชมเมื่อสุนัขแสดงพฤติกรรมที่ดีเสมอ
- สอนให้สุนัขรู้จักคำสั่ง “วางลง” เมื่อสุนัขคาบสิ่งของที่ไม่ควร และให้รางวัลเมื่อสุนัขทำตามคำสั่งของเรา ซึ่งการฝึกสามารถทำได้โดยแลกเปลี่ยนของเล่นที่สุนัขหวงด้วยอาหารหรือขนมที่สุนัขชอบ
4.ความกลัว
พฤติกรรมการทำลายข้าวของ อาจจะแสดงถึงความหวาดกลัวต่อสิ่งต่างๆ ของสุนัขได้ เช่นการกลัวเสียงดังจากพายุฝนฟ้าคะนอง, เสียงประทัด หรือเสียงดังจากการก่อสร้าง
แนวทางการแก้ไข
- ให้สังเกตพฤติกรรมสุนัขเพื่อหาสาเหตุว่ากลัวอะไร หลังจากนั้นให้พาสุนัขไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย เช่นใส่ไว้ในกล่อง หรือพาไปอยู่อีกห้อง และฝึกให้สุนัขจดจำว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเขา เพราะหากสุนัขไม่ได้รับการฝึก จะทำให้ยิ่งวิตกกังวล และทำลายข้าวของรวมไปถึงทำร้ายตัวเองเมื่อเราพาน้องหมาไปยังที่ดังกล่าว
- อย่าโอ๋เมื่อสุนัขแสดงอาการกลัว ให้เบี่ยงเบนความสนใจโดยการชวนเล่น หรือออกคำสั่งที่สุนัขรู้ และให้รางวัลเมื่อทำตามคำสั่งแทนที่จะแสดงความหวาดกลัว
สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อสุนัขทำลายข้าวของ
การลงโทษ ภายหลังจากการที่สุนัขได้ทำลายข้าวของไปแล้ว แม้จะเพียงไม่กี่นาทีก็ถือว่าสายเกินไป เพราะสุนัขไม่สามารถจะเข้าใจได้ว่าโดนลงโทษเพราะอะไร แต่สุนัขเข้าใจว่าโดนลงโทษในตอนนี้โดยที่ไม่ได้ทำอะไรผิด หลายคนเชื่อว่าเมื่อสุนัขทำผิดแล้วเขาสามารถรู้สึกผิดได้ อาจเป็นเพราะสุนัขวิ่งหลบและแสดงท่าทีที่เหมือนว่ารู้สึกเศร้าหรือเสียใจ แต่แท้จริงแล้วมันไม่ใช่ การที่สุนัขแสดงท่าทางเช่นนั้น เนื่องจาก สุนัขรู้สึกถูกคุกคามจากการที่คุณใช้น้ำเสียง สีหน้า หรือท่าทางที่ดุดันน่ากลัว สุนัขไม่มีทางทราบแน่นอนว่าเขาทำผิด เขารู้เพียงว่าคุณกำลังอารมณ์เสียเท่านั้น
ดังนั้นแล้วการทำโทษจึงไม่ใช่วิธีการแก้แก้ปัญหาที่เหมาะสม แต่ยังอาจจะทำให้ปัญหาดังกล่าวรุนแรงกว่าเดิม และอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ ตามมาได้อีกด้วย เพราะสุนัขก็เหมือนเด็กคนหนึ่งที่ต้องการการเรียนรู้และทำความเข้าใจ เราจึงต้องให้ความรัก การดูแลเอาใจใส่ และทำความเข้าใจพฤติกรรมของเขา เพราะอย่านะครับลืมว่า…
“โลกทั้งใบของเขามีแค่เราคนเดียว”