“สุนัขไร้ขนเปรู” จากตูบโบราณใกล้สูญพันธุ์สู่ผู้พิทักษ์พีระมิด-BBCไทย

“สุนัขไร้ขนเปรู” จากตูบโบราณใกล้สูญพันธุ์สู่ผู้พิทักษ์พีระมิด-BBCไทย

หมาน้อย “ซูแม็ก” มีชื่อในภาษาพื้นเมืองของเปรูที่แปลว่า “สวยงาม” ซึ่งออกจะตรงข้ามกับรูปลักษณ์ภายนอกของมันที่มีขนบางหร็อมแหร็ม ผิวหนังยับย่นเต็มไปด้วยปุ่มปม

ในทุกวันซูแม็กกับเพื่อนสี่ขาอีกตัวชื่อ “มูนาย” หรือ “ที่รักของทุกคน” จะออกลาดตระเวนไปรอบพีระมิดฮัวคา ปุกจานา (Huaca Pucllana) โบราณสถานใจกลางกรุงลิมาของเปรู เพื่อทำหน้าที่ผู้พิทักษ์มรดกทางประวัติศาสตร์

เมื่อหลายพันปีก่อน สุนัขไร้ขนถือเป็นสิ่งสำคัญอันจะขาดเสียมิได้ในสังคมชนพื้นเมืองแถบอเมริกากลาง

เมื่อไม่กี่สิบปีก่อน “สุนัขไร้ขนเปรู” (perro peruano sin pelo) อย่างซูแม็กและมูนาย เป็นสุนัขสายพันธุ์โบราณที่กำลังใกล้จะสูญพันธุ์ ทำให้รัฐบาลเปรูประกาศยกฐานะของพวกมันให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติในปี 2000 และในปีต่อมายังได้กำหนดให้โบราณสถานที่เปิดให้เข้าชมทุกแห่ง ต้องเลี้ยงสุนัขไร้ขนเปรูไว้อย่างน้อยหนึ่งตัว เช่นเดียวกับสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศอย่างตัวลามา

“การที่เรามีพวกมันไว้ตามโบราณสถาน เท่ากับได้เรียกคืนบางส่วนของวัฒนธรรมเปรูที่กำลังเลือนหายไป เราได้มีบางอย่างเป็นของตนเองและได้แสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ของเรา” มีเรลลา กอนโนซา นักโบราณคดีประจำพีระมิดฮัวคา ปุกจานากล่าว

สุนัขไร้ขนเปรูมีขนบางหร็อมแหร็ม ผิวหนังยับย่นเต็มไปด้วยปุ่มปม

สัตว์เลี้ยงของซาตาน

เมื่อหลายพันปีก่อน สุนัขไร้ขนถือเป็นสิ่งสำคัญอันจะขาดเสียมิได้ในสังคมชนพื้นเมืองแถบอเมริกากลาง ภาพวาด เครื่องปั้นดินเผา และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เป็นรูปสุนัขไร้ขนปรากฏให้เห็นอยู่ในอารยธรรมโบราณต่าง ๆ ทั้งอินคา (Inca) โมเช (Moche) วาริ (Wari) และชิมู (Chimu) โดยถือเป็นสัตว์เลี้ยงคู่ใจของมนุษย์ในยุคก่อนการมาเยือนของนักสำรวจชาวตะวันตก

สุนัขโบราณสายพันธุ์นี้มีรูปร่างและลักษณะนิสัยที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปแม้แต่น้อยในรอบหลายพันปีที่ผ่านมา แต่เมื่อบรรดานักล่าอาณานิคมชาวสเปนมาถึงเปรูในปี 1532 โดยมีเป้าหมายจะกอบโกยความมั่งคั่งจากอาณาจักรของชนพื้นเมือง และเปลี่ยน “คนเถื่อน” ให้หันมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ชาวตะวันตกกลับมองว่าสุนัขไร้ขนเปรูที่น่าเกลียดเป็นสัญลักษณ์ของซาตาน

ซูแม็กและมูนายขณะทำหน้าที่ “ผู้พิทักษ์” พีระมิดโบราณ

การที่ผิวล้านเลี่ยนของมันมักเป็นสีดำยับย่นไม่น่าดู ทั้งยังมีฟันเหยินยื่นและมีลิ้นที่ห้อยออกมาอยู่ด้านข้างของปากเสมอ ทำให้นักล่าอาณานิคมชาวสเปนมองว่ามันคือสิ่งชั่วร้ายที่จะต้องกำจัด ซึ่งเป็นเหตุให้หลายร้อยปีต่อมาประชากรสุนัขไร้ขนที่เลี้ยงกันตามครัวเรือนเริ่มลดลงเรื่อย ๆ จนเลือนหายไปจากความทรงจำของชาวเปรู

สุนัขไร้ขนจำนวนหนึ่งกลายเป็นหมาจรจัดที่อยู่ตามข้างถนน แถมยังถูกเรียกว่า “หมาจีน” ด้วยความเข้าใจผิด เนื่องจากชาวเปรูสมัยใหม่คิดว่ามันคือสุนัขที่มากับผู้อพยพในช่วงศตวรรษที่ 19-20

จุดเปลี่ยน

อย่างไรก็ดี นับแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เริ่มมีการรณรงค์ให้นำสุนัขไร้ขนเปรูกลับมาเป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้านกันอีกครั้ง รัฐบาลยังให้การรับรองสายพันธุ์ดังกล่าวอย่างเป็นทางการ และจัดตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์สุนัขพันธุ์นี้ขึ้นโดยเฉพาะ รวมทั้งกำหนดให้วันที่ 12 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสุนัขไร้ขนแห่งชาติ

ซูแม็กกลายเป็นขวัญใจของเจ้าหน้าที่และนักท่องเที่ยวที่มาเยือน

สำหรับซูแม็กและมูนายแล้ว พีระมิดฮัวคา ปุกจานา ซึ่งสร้างจากโคลนและอิฐดินดิบก่อนยุคอารยธรรมอินคาเมื่อราวปีค.ศ. 500 คือบ้านหลังใหม่ที่พวกมันเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมโบราณ โดยจะออกวิ่งเล่นโชว์ตัวและทักทายนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจำนวนมาก

เรื่องราวของซูแม็กและมูนายเป็นส่วนหนึ่งของการบรรยายโดยมัคคุเทศก์ประจำพีระมิด

พวกมันมีพี่เลี้ยงคอยดูแลเรื่องอาหารการกินและที่หลับนอนเป็นอย่างดี “แม้พวกมันออกจะซนและชอบทำท่าวางก้ามใหญ่โตอยู่บ้าง แต่พวกมันรักฉันมากและคอยเดินตามต้อย ๆ อยู่ตลอด”

“แค่พวกมันอยู่ที่นี่… แค่มีผู้คนได้มาเห็น ก็ถือว่าเราได้ส่งต่อเรื่องราวที่เป็นความทรงจำทางประวัติศาสตร์ไปสู่คนรุ่นใหม่แล้ว”

ที่มา: BBCไทย

แชร์บทความนี้...

Vetbasket

คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *