คนเลี้ยงสัตว์ต้องรู้…โรคสัตว์สู่คนที่นำโดยสุนัขและแมว!
สุนัขและแมวถือเป็นสัตว์ยอดฮิตที่คนนิยมเลี้ยงกัน เพราะมันทั้งน่ารักและเป็นเพื่อนผู้ซื่อสัตว์ของเรา แต่สิ่งที่เราควรระวังก็คือโรคบางชนิดที่ทั้งสุนัขและแมวสามารถนำมาติดเราได้ VetBasket จึงได้นำข้อมูลของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนจากสุนัขและแมวที่สำคัญมาให้คนเลี้ยงสัตว์ได้ทราบกัน เพื่อจะได้มีแนวทางป้องกันและเลี้ยงเจ้าขนปุยได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
โรคสัตว์สู่คนที่สุนัขและแมวสามารถนำมาติดเราได้มีอะไรบ้างไปดูกันเลย…
โรคสัตว์สู่คน (Zoonotic disease) เป็นโรคที่มีการติดต่อสู่คนโดยมีสัตว์เป็นพาหะ โรคเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากทั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ปรสิต และเชื้อรา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสัตว์เลี้ยงในบ้านทั้งสุนัขและแมวสามารถนำโรคเหล่านี้มาสู่ผู้เลี้ยงได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
โรคสัตว์สู่คนที่นำโดยสุนัขและแมว
โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)
โรคพิษสุนัขบ้ามีสาเหตุจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies virus) ซึ่งเป็นเชื้อที่ติดต่อได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด
คนติดเชื้อจากสุนัขและแมวโดยการถูกกัด ข่วน หรือเลียบริเวณเยื่อเมือกเช่นเยื่อตา เชื้อจะผ่านจากน้ำลายสัตว์เข้าทางบาดแผลหรือเยื่อเมือก จากนั้นเชื้อจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เข้าสู่ประสาทส่วนกลางและสมอง โดยอาการจะเริ่มแสดงเมื่อเชื้อเข้าสู่สมองแล้ว
โรคพิษสุนัขบ้ามีระยะฟักตัวตั้งแต่น้อยกว่า 1 สัปดาห์จนถึงนานกว่า 1 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยได้แก่ ลักษณะการสัมผัสเชื้อเป็นการถูกกัดหรือเชื้อผ่านทางเยื่อเมือก อวัยวะที่ถูกกัด ชนิดของสัตว์ที่กัด ปริมาณเชื้อไวรัสที่เข้าในบาดแผล และการดูแลแผลหลังถูกกัด
อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในคน
- ปวดศีรษะ มีไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
- คันบริเวณแผลที่ถูกกัด
- กลืนอาหารลำบาก กล้ามเนื้อลำคอเป็นอัมพาต กลืนน้ำลายไม่ได้
- อารมณ์หงุดหงิด ตื่นเต้นตกใจง่าย ประสาทสัมผัสไวต่อการกระตุ้น
- มักเสียชีวิตด้วยอาการทางเดินหายใจล้มเหลวภายใน 2-7 วันหลังจากเริ่มแสดงอาการ
การป้องกันโรค
- นำสัตว์เลี้ยงไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำ (ตามพ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535)
- ระวังตนเองและบุตรหลานไม่สัมผัสหรือคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือไม่ทราบ
- ประวัติการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะสุนัขหรือแมวจรจัด
- เมื่อถูกสุนัขและแมวกัดให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลายๆ ครั้งใส่ยาฆ่าเชื้อ
- ตรวจสอบประวัติสัตว์ที่มากัด ทั้งประวัติการได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและลักษณะอาการของสัตว์
- ปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนหรือ Immunoglobulin
- กักขังสุนัขหรือแมวที่มากัดไว้ดูอาการอย่างน้อย 10 วัน ให้อาหารและน้ำตามปกติแต่ไม่ควรคลุกคลีกับสัตว์ หากสัตว์มีอาการผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์ หากสัตว์ตายให้ส่งซากเพื่อตรวจหาเชื้อพิษสุนัขบ้า
- กรณีที่พบเห็นสุนัขหรือสัตว์ที่มีอาการที่คิดว่าจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้าให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือเทศบาลทราบทันทีเพื่อทำการควบคุมสัตว์ดังกล่าวและสัตว์ที่อยู่บริเวณโดยรอบไม่ให้เกิดการติดเชื้อ
- การเก็บและส่งซากสัตว์เพื่อตรวจวินิจฉัย กรณีเป็นสัตว์ขนาดเล็กให้ส่งทั้งตัว หากสัตว์มีขนาดใหญ่ให้ส่งหัวตรวจ
โรคจากปรสิตภายใน (Internal parasite)
เชื้อไกอาร์เดีย (Giardia)
Giardia เป็นโปรโตซัวที่อาศัยอยู่ในลำไส้ ก่อโรคได้ทั้งในคนและสัตว์ ทำให้เกิดอาการท้องเสียน้ำหนักลด หากสัตว์มีการติดเชื้ออย่างเรื้อรังอาจไม่พบอาการผิดปกติใดๆเลย แต่จะสามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนหรือสัตว์อื่นๆ ได้ตลอดเวลา
คนสามารถติดเชื้อ Giardia ได้จากสัตว์เลี้ยงโดยการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของสัตว์ที่ติดเชื้อเข้าไป การป้องกันการติดเชื้อในคน ทำได้โดยการบริโภคอาหารและน้ำที่สะอาด ควรล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง หลังจากทำความสะอาดมูลสัตว์หรือใช้มือสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงแล้ว ก็ควรล้างมือให้สะอาดด้วยเช่นกัน
โรคทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)
โรคทอกโซพลาสโมซิส เกิดจากเชื้อ Toxoplasma gondii ซึ่งเป็นเชื้อโปรโตซัวเซลเดียวที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของหนู แมว และสัตว์อื่นๆ โดยส่วนใหญ่แมวสามารถติดเชื้อโปรโตซัวชนิดนี้จากการกินหนูที่มีเชื้อในลำไส้
เราติดโรคทอกโซพลาสโมซิสมาได้อย่างไร…
แมวที่ติดเชื้อสามารถถ่ายเชื้อในระยะ Oocyst ออกมากับอุจจาระ โดยเราจะได้รับเชื้อเข้าทางปากโดยบังเอิญจาก
- เอามือไปจับปากหลังทำความสะอาดกระบะทรายหรือเปลี่ยนทรายแมว
- จับอุปกรณ์ที่สัมผัสกับอุจจาระของแมว
- ทำสวนโดยไม่สวมถุงมือ
- กินอาหารสุกๆ ดิบๆ ผลไม้ หรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนอุจจาระแมวที่ติดเชื้อ
ผู้ที่ติดเชื้อมักจะไม่แสดงอาการใดๆ หรือมีอาการเล็กน้อยลักษณะคล้ายหวัด โดยกลุ่มเสี่ยงได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่อยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ในหญิงตั้งครรภ์อาจแสดงอาการรุนแรงจนเป็นสาเหตุให้เกิดการแท้งลูกได้ โดยเฉพาะการติดเชื้อในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ แต่ถ้าเด็กเกิดมา ก็จะอาจจะมีอาการของโรค คือมีศีรษะขนาดไม่ปกติ และเมื่อโตขึ้น เด็กเหล่านี้ก็จะแสดงอาการปัญหาทางระบบประสาทขึ้น เช่น เสียการมองเห็น มีความบกพร่องทางสติปัญญา และชักได้
การป้องกันโรค
- รักษาสุขลักษณะส่วนบุคคลให้ดี
- ไม่ควรให้แมวกินอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ดิบ
- พื้นที่ซึ่งมีการเลี้ยงแมวควรมีการทำความสะอาดอยู่เสมอ
- ตักอุจจาระแมว และเปลี่ยนทรายแมวทุกวัน
- ในสตรีตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแมวหรืออุจจาระแมว
“คนท้องไม่ควรไปตักอุจจาระแมวนะจ๊ะ”
พยาธิตัวกลม (Toxocara)
พยาธิตัวกลมสามารถแพร่กระจายเข้าสู่คนได้โดยทางการกินไข่พยาธิ โดยคนสัมผัสกับดินที่ปนเปื้อนกับอุจจาระที่มีไข่พยาธิ เมื่อเอามือเข้าปากหรือหยิบจับอาหารเพื่อรับประทานก็จะกลืนไข่พยาธิไปโดยบังเอิญ
ผู้ที่ติดเชื้อพยาธิตัวกลมเข้าสู่ร่างกาย ตัวอ่อนพยาธิจะฟักตัวออกมาจากไข่และไชผ่านเนื้อเยื่อไปได้ทั่วร่างกาย มักพบการอักเสบและความเสียหายของเนื้อเยื่อในบริเวณที่พยาธิไชผ่าน พบได้บ่อยบริเวณเนื้อเยื่อตับ ปอด ผู้ติดเชื้อบางรายพบความผิดปกติได้ที่สมองและตา
พยาธิปากขอ (Ancylostoma)
พยาธิปากขอมักมีการติดต่อจากสุนัขและแมวสู่คนโดยที่ตัวอ่อนของพยาธิจะฟักออกจากไข่ และปนเปื้อนอยู่ในดิน ตัวอ่อนพยาธิปากขอสามารถไชเข้าสู่คนโดยผ่านทางผิวหนัง โดยเฉพาะง่ามมือง่ามเท้า และตามรอยแตกของผิวหนังบริเวณเท้า ในสุนัขและแมวอายุน้อยพบอัตราการติดเชื้อพยาธิค่อนข้างสูง เนื่องจากตัวอ่อนพยาธิสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้โดยผ่านทางน้ำนม ดังนั้นลูกสุนัขและแมวจึงสามารถแพร่กระจายเชื้อสู่คนได้มาก
ผู้ที่ติดเชื้อพยาธิปากขอจากสุนัขและแมว ตัวอ่อนพยาธิสามารถไชผ่านเยื่อเมือกและอวัยวะต่างๆ ได้ โดยตัวอ่อนมักจะไชผ่านเนื้อเยื่อเข้าไปอาศัยอยู่ภายในลำไส้จนทำให้เกิดอาการลำไส้อักเสบได้
การป้องกันการติดพยาธิทั้งพยาธิตัวกลมและพยาธิปากขอจากสัตว์
- การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล
- ถ่ายพยาธิให้สัตว์เลี้ยงเป็นประจำ
- กำจัดอุจจาระของสัตว์เลี้ยงด้วยวิธีที่ถูกต้อง และทำอย่างสม่ำเสมอไม่ให้เกิดการตกค้างของอุจจาระจนทำให้มีการปนเปื้อนลงในสิ่งแวดล้อม เช่นพื้นดิน แหล่งน้ำ หรือแพร่กระจายไปกับแมลง
“ไข่ของพยาธิปากขอสามารถฟักเป็นตัวอ่อนอาศัยอยู่ในดินภายใน 5 วัน ไข่ของพยาธิตัวกลมสามารถมีชีวิตอยู่ในดินถึง 2 สัปดาห์ ในสภาพที่มีอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม”
“พยาธิตัวกลมตัวเมีย 1 ตัวสามารถไข่ได้มากกว่า 100,000 ฟองใน 1 วัน ดังนั้นจึงทำให้ไข่ของพยาธิตัวกลมถูกผลิตออกมาวันละมากกว่า 1,000,000 ฟอง”
สัตว์เลี้ยงที่มีความเสี่ยงในการติดพยาธิและแพร่กระจายพยาธิสู่คนส่วนใหญ่จะเป็นลูกสุนัข
และแมว ดังนั้นจึงควรมีการถ่ายพยาธิให้ลูกสัตว์ โดยให้ถ่ายพยาธิให้ลูกสุนัขที่มีอายุ 2, 4, 6, และ 8 สัปดาห์ และถ่ายพยาธิต่อไปทุกๆ เดือน ไปจนกระทั่งลูกสุนัขอายุครบ 6 เดือน ส่วนในลูกแมวเนื่องจากมีอัตราการติดเชื้อจากแม่แมวต่ำ จึงแนะนำให้มีการถ่ายพยาธิในลูกแมวครั้งแรกที่อายุ 3 สัปดาห์ และถ่ายซ้ำที่ 5, 7 และ 9 สัปดาห์ และเมื่อสัตว์โตเต็มที่ก็ยังคงจัดให้มีโปรแกรมการถ่ายพยาธิเป็นประจำทุก 3-6 เดือน
โรคจากเชื้อรา (Ringworm)
สาเหตุที่เรียกการติดเชื้อนี้ว่า ringworm เนื่องมาจากรอยโรคที่ปรากฏบนผิวหนังมีลักษณะเป็นวงกลมขอบแดงคลายรอยบุหรี่จี้ ซึ่งคนสามารถติดได้จากสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะในแมว โดยสัตว์เลี้ยงที่นำเชื้อรามาติดเราอาจไม่แสดงอาการใดๆ เลยก็ได้
อาการของโรคในสัตว์นั้น จะมีอาการคัน มีผื่นที่ผิวหนัง ขนร่วง ผิวหนังลอกลักษณะคล้ายรังแค และมีจำนวนน้อยมากที่จะแสดงลักษณะเป็นผื่นวงแดงมีขอบนูนลักษณะคล้ายกับที่พบในคน
เชื้อราสามารถติดต่อกันได้ง่ายทางการสัมผัสโดยตรงทั้งในสุนัขแมว คนเราสามารถติดเชื้อราได้จากการสัมผัสดิน บริเวณที่นอน หวีหรือแปรงสำหรับแปรงขน หรือติดมาจากสัตว์อื่นได้ ในทางกลับกัน คนก็สามารถแพร่เชื้อไปสู่สุนัขและแมวได้เช่นกัน
การป้องกันการติดเชื้อราจากสัตว์
- รักษาความสะอาดร่างกายเป็นประจำ และทำร่างกายให้แข็งแรง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยงในกรณีที่อยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ
- ถ้าพบว่าสัตว์เลี้ยงในบ้านติดเชื้อราให้รีบรักษาให้หายขาด
- ทำความสะอาดบริเวณที่สัตว์นอน หวีหรือแปรงสำหรับแปรงขนสัตว์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
- ทำความสะอาดพื้นบริเวณที่สัตว์อยู่อาศัย รวมทั้งพรมปูพื้นภายในบ้านเพื่อควบคุมการกระจายเชื้อ
“รู้ไหม…สปอร์ของเชื้อราสามารถทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานกว่า 18 เดือนเลยนะ…”
ทั้งหมดนี้คือโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่สำคัญ โดยเฉพาะจากสุนัขและแมวของเรา บางโรคก็มีอาการรุนแรงแต่บางโรคก็แสดงอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการเลย ถึงอย่างนั้นเราก็ควรรู้วิธีป้องกันเอาไว้เพื่อที่จะได้มีความสุขกับเจ้าตูบเจ้าเหมียวของเราอย่างเต็มที่ไงล่ะครับ -Dr.K-
ภาพปก: stylecraze.com