เด็กใกล้ชิดสัตว์เลี้ยงเสี่ยงแพ้อาหารน้อยลง ยกเว้นหนูแฮมสเตอร์
BBC News ไทย / ภาพปก : GETTY IMAGES
เผยแพร่ : 2 เมษายน 2023เด็กที่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงสารพัดชนิด ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว หรือแม้แต่ปศุสัตว์ในบ้านไร่ โดยได้คลุกคลีกับพวกมันมาตั้งแต่แรกเกิด มีความเสี่ยงต่ำที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพ้อาหารชนิดต่าง ๆ
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฟุกุชิมะของญี่ปุ่น เผยผลการศึกษาล่าสุดในวารสาร PLOS One โดยระบุว่าการเลี้ยงสุนัขและแมวไว้ในบ้าน จะช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานต่ออาหารที่คนจำนวนมากมีอาการแพ้ ให้กับเด็กที่เกิดมาในบ้านหลังนั้นได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา
อย่างไรก็ตาม สัตว์เลี้ยงที่มีคุณประโยชน์ซึ่งทีมวิจัยแนะนำเป็นพิเศษ ได้แก่แมวและสุนัขที่เลี้ยงระบบปิดไว้ภายในตัวอาคาร ส่วนสุนัขที่เลี้ยงไว้นอกบ้านและหนูแฮมสเตอร์นั้น ไม่เหมาะสมต่อการเป็นสัตว์เลี้ยงเสริมภูมิคุ้มกันให้กับหนูน้อย
ทีมผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพของเด็กญี่ปุ่น 66,215 คน ซึ่งได้จากการตอบแบบสอบถามของบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยพิจารณาข้อมูลสุขภาพเหล่านี้ร่วมกับข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว นก หนูแฮมสเตอร์ หรือเต่า
ผลปรากฏว่ามีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างการได้สัมผัสใกล้ชิดสัตว์เลี้ยงตั้งแต่วัยเยาว์กับการไม่เป็นโรคภูมิแพ้อาหารเมื่อโตขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีรายละเอียดปลีกย่อยและข้อควรระวังเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้เด็กอยู่บ้าง โดยทีมผู้วิจัยชี้ว่าการเลี้ยงสุนัขไว้นอกบ้านหรือนอกตัวอาคารที่อยู่อาศัยของคน จะไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพของเด็กในเรื่องนี้ ส่วนการเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์นั้นมีแนวโน้มจะไปกระตุ้นให้เด็กเกิดอาการแพ้ถั่วเปลือกแข็งได้
แม้ทีมผู้วิจัยจะยังไม่สามารถระบุได้ว่า กลไกทางร่างกายแบบใดที่ตอบสนองต่อสารกระตุ้นจากสัตว์เลี้ยง จนทำให้เด็กเกิดภูมิต้านทานการแพ้อาหารขึ้น แต่พวกเขาสันนิษฐานว่าสารเคมีบางอย่างที่สัตว์เลี้ยงผลิตออกมา โดยอาจอยู่ในน้ำลายและตกค้างอยู่ตามผิวหนังหรือเส้นขน น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กพัฒนาภูมิคุ้มกันที่จำเป็นขึ้นมา
นอกจากนี้ทีมผู้วิจัยยังสันนิษฐานว่า จุลินทรีย์ชนิดดีที่มาจากสัตว์เลี้ยง เข้าไปช่วยเสริมความหลากหลายของระบบจุลชีวนิเวศในลำไส้ (gut microbiome) ของเด็กให้ดีขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายในระยะยาว